รองประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เผยให้ สปช. พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป พร้อมร่างรัฐธรรมนูญ ระบุสรุปเหลือแค่ 5 มาตรา มีเป้าหมายชัด ยันคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เพื่อสานงาน สปช. ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ
วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 6 ในฐานะประธานอนุ กมธ. ศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป กล่าวถึงเหตุผลที่ กมธ. ยกร่างฯ กำหนดให้ต้องยื่นร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาควบคู่กับร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ. ยกร่างฯ ได้รับคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. ที่ต้องการให้ปรับเพิ่มสาระ ขณะที่ ครม. กังวลกรณีหากขีดเส้นกำหนดเวลาปฏิรูปเพียงระยะเวลา 1 - 2 ปี อาจเกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปได้ อีกทั้งการมีองค์กรใหม่แม้จะมีความจำเป็นแต่อาจเป็นภาระต่องบประมาณ และอาจเกิดความกังวลต่อรัฐบาลหน้า
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในหมวดการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่ตนรับผิดชอบ กมธ. ยกร่างฯ พิจารณาจนได้ข้อยุติให้เหลือ จำนวน 5 มาตรา ที่มีเป้าหมาย ทิศทาง หลักการสำคัญชัดเจน ส่วนสาระไปบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาได้ละเอียดรอบคอบมากกว่า ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดการปฏิรูปได้จริง ส่วนองค์กรที่จะมาดูแลเรื่องการปฏิรูปอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นองค์กรที่มีอยู่เดิม ก่อนหน้านี้ มีคนขอให้หมวดการปฏิรูปและสร้างความปรองดองเหลือเพียงมาตราเดียว ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่สามารถตอบโจทย์หลักประกันที่จะเรียกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้ ส่วนการกำหนดการปฏิรูปที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อย่างการปฏิรูปกลไกตำรวจ ปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและงบประมาณ จึงเรียกได้เต็มปากว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเต็มที่ จึงมีกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างอนุ กมธ. และ กมธ. ปฏิรูป 18 ด้านของ สปช. เพื่อหารือให้ได้เป้าหมายทิศทางและหลักการที่ชัดเจนและเป็นที่น่าพอใจของ สปช. ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ถือเป็นงานที่ สปช. คิดว่าฝากไว้ให้กับประเทศได้
นพ.ชูชัย กล่าวถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ต้องส่งถึงมือประชาชน ว่า เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นฉบับประชามติ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับปฏิรูปผ่านการออกเสียงประชามติ ดังนั้น ประชาชนก็ควรรับทราบ เพราะประชาชนถือเป็นพลังสูงสุดที่จะทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จสูงสุด รวมถึงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคม ซึ่งหากเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติด้วยความมั่นใจ ก็จะเป็นประโยชน์ให้ประเทศเดินหน้าไปได้หากเป็นไปตามกลไกที่วางไว้ก็จะเห็นอนาคตประเทศ
“คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูปสานต่องานจาก สปช. เพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจตามที่สังคมหวาดระแวงอย่างแน่นอน” นพ.ชูชัย กล่าว