xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” พอใจ รธน.แม้ไม่ใช้ร่างในฝัน ลั่น ร่วมทำฉบับสุดท้าย “ชูชัย” เชื่อผ่านฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ปธ. กมธ.ยกร่างฯ รับ รธน. ยังไม่สมบูรณ์บอกจำนวนมาตราไม่ได้ เตรียมถกยืดเวลา ยันคงหลักการ พอใจระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ร่างในฝัน เหตุมีข้อจำกัด ชี้เรื่องปกติไม่มีใครพอใจหมด แย้ม คิดแผนเผยแพร่แล้ว แต่รอมติ สปช. ตอบไม่ได้ รธน. ใหม่อยู่นานแค่ไหน ลั่น ฉบับสุดท้ายที่ร่วมทำ ไม่ผ่านกลับบ้านนอน “หมอชูชัย” เชื่อ รธน. ผ่านฉลุย เลขาฯ กมธ. รับ ร่าง รธน. งานหิน ถึงแก้ก็ไม่ลืมเป้าหมาย

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงสรุปภาพรวมการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานอกสถานที่ตลอด 7 วัน โดย นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบสมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะหมวดปฏิรูปและการสร้างความปรองดองต้องรอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บทเฉพาะกาลก็ต้องดูกันให้เรียบร้อย ดังนั้น ยังไม่สามารถบอกจำนวนมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดได้อย่างเป็นทางการ ส่วนตัวคิดว่าถ้าจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับสปช.ในวันที่ 22 ก.ค. คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องทำให้เสร็จทั้งหมดในวันที่ 21 ก.ค. แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเปิดทางให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ สามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบแต่อย่างใด ซึ่งคณะ กมธ. ยกร่างฯ จะประชุมกันเพื่อมีมติในวันที่ 21 ก.ค. ในเวลา 13.30 น. ว่า จะมีมติขยายเวลาหรือไม่

“การแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ. ยกร่างฯ ไม่มีไปกระทบกับหลักการสำคัญทั้ง 4 ประการ ยังคงอยู่ตามเดิม เพียงแต่ว่าบางเรื่องเราปรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น อย่างเช่น บางเนื้อหาที่เราใช้คำว่าพลเมือง เราก็ได้ปรับเป็นบุคคล เป็นต้น แต่หลักการเดิมยังคงอยู่ทุกประการ”

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความพอใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระดับหนึ่ง ตนเองเคยพูดเสมอว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลกนั้นยังไม่มี และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญในฝันของผม เพราะถ้าเป็นร่างรัฐธรรมนูญในฝันของผมจริง จะมีหลายเรื่องที่ผมจะไม่เขียนแบบนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า 1. เรามีข้อจำกัดเรื่องเนื้อหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ได้กำหนดแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้หลายประการ เช่น การตัดสิทธิผู้ถูกพิพากษาว่าได้ทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรมให้ออกไปจากวงการเมืองตลอดไป เป็นต้น

“ถามผมว่าถ้าเป็นผมเขียนจะเขียนแบบนั้นหรือไม่ ผมเชื่อว่า กมธ. หลายคนก็คงไม่เขียน แต่ถ้าไม่เขียนก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 (4) เราก็ต้องเขียน”

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า 2. ข้อจำกัดเรื่องเวลา เรื่องบางเรื่องถ้ามีเวลามากกว่านี้ กระบวนการคิดอาจจะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น 3. เรื่องกระบวนการ คณะ กมธ. ยกร่างฯ ไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. และคณะรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งเสียงประชาชน มีหลายเรื่องที่เราเห็นด้วย มีหลายเรื่องที่คณะ กมธ. ยกร่างฯ ยืนหลักการเดิม หรือหลายเรื่องที่คณะ กมธ. ยกร่างฯ เคยมีมติไปแล้วก็ต้องเปลี่ยน เช่น การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ คณะ กมธ. ยกร่างฯ เคยมีมติมาตั้งแต่ต้นว่าการเลือกตั้งควรให้เป็นสิทธิ แต่สุดท้ายก็มีเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งกลับไปเป็นหน้าที่

“ดังนั้น ไม่มีใครพอใจได้ 100% หรอกสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ” นายบวรศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้เตรียมแผนสำหรับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญระหว่างการรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติแล้วหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า คิดไว้ในใจบางแล้วแต่ยังไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. หรือไม่ เราจะไปเชื่อมั่นอย่างที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ. ยกร่างฯ เชื่อมั่นนั้นส่วนตัวก็ยังไม่กล้า

“ผมอยู่กับปัจจุบัน ผมไม่ได้อยู่กับอนาคตหรืออดีต ปัจจุบันยังไม่มีการลงมติ ก็ยังไม่มีความแน่นอนในอนาคต จึงยังไม่มีการพูดกัน เมื่อไหรที่วันที่ 5 6 หรือ 7 ก.ย. วันใดวันหนึ่งที่ สปช. ลงมติเห็นชอบแล้ว ถึงจะมานั่งประชุมกันว่าเราจะดำเนินการเผยแพร่อย่างไร วันนี้คิดไว้ในใจก่อนได้แต่ว่ายังตอบไม่ได้ว่าจะผ่านสปช.หรือเปล่า” นายบวรศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ เชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะอยู่กับประเทศไทยไปอีกนานเท่าไหร นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า “ตอบไม่ได้ ผมบอกแล้วผมอยู่กับปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าคนที่ไปคิดถึงอดีตมันไม่มีประโยชน์ เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว คนที่คิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน ดังนั้น ผมตอบได้ว่าปัจจุบันถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ จะอยู่ได้นานแค่ไหนผมไม่รู้ แต่ผมตั้งใจในตัวผมเองว่าคงจะเป็นฉบับสุดท้ายที่ผมจะมีส่วนในการทำแล้ว และเคลียร์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างเลยแม้แต่น้อย มีแต่ปี 2540 และฉบับนี้เท่านั้น”

เมื่อถามว่า เมื่อคณะ กมธ. ยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์จะมีสินค้าอะไรไปขายกับ สปช. นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีสินค้า มีแต่เจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญ 4 ข้อ ประกอบด้วย สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข ส่วน สปช. จะลงมติอย่างไรก็เป็นเอกสิทธิ์ของ สปช. ไม่ขอก้าวล่วงและไม่ไปเดาว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

เมื่อถามว่า หากเหตุการณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ส่วนตัวจะกลับมาเข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า “อย่าถามเรื่องอนาคต อนาคตมันยังไม่เกิด ปี 2540 ร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศประชาธิปไตย ปี 2550 เกิดความขัดแย้งที่ยังสุกงอม มาปีนี้ความขัดแย้งก็ยังไม่หมด ขนาดผมพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ยังเอาไปพูดเป็นเรื่องแบ่งชนชั้นเลอะเทอะไปโน่น”

“เรื่องกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน อย่ามาคิดถึงผมเลย ตัวใครตัวมันก็แล้วกันถ้าไม่ผ่าน ผมก็กลับไปนอนบ้านเท่านั้นเอง” นายบวรศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายบวรศักดิ์ ได้ให้ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดใจกับสื่อมวลชนถึงการทำงานที่ผ่านมา โดยนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านมติของ สปช. และการทำประชามติของประชาชน เพราะจากการทำงานร่วมกับ สปช. ที่ผ่านมา พบว่า สปช. รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ขณะที่การทำประชามตินั้นเชื่อว่าสาระสำคัญที่นำชาติ และบ้านเมืองไปสู่ความคาดหวัง และทำให้เกิดความศิวิไลซ์แก่แผ่นดินสยาม จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนยอมรับ

นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ฉบับ โดยแต่ละฉบับนั้นมีโจทย์การทำงานที่แตกต่างกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างขณะนี้ ถือว่ามีโจทย์การทำงานที่ยากที่สุด เพราะต้องทำให้บ้านเมืองคืนสู่ความสงบ และทำชาติให้เจริญก้าวหน้า โดยยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขวิกฤตต่าง ๆ ที่ผ่านมา และนำประเทศไปสู่ความสงบโดยพริบตา แต่เป็นแนวทางที่คาดว่าจะเป็นช่องทางให้บ้านเมืองไปสู่สันติสุขและเจริญก้าวหน้าได้อย่างน่าชื่นชม

“รัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมานั้น หลายคนคิดว่าเป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาและนำประเทศไปสู่ความสงบสุขได้ แต่เมื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และเสียงประชาชนแล้ว ต้องนำความเห็นนั้นมาปรับเพื่อให้เกิดความสมดุลและได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้จะไม่ใช่โจทย์ที่ต้องการ แต่สุดท้ายต้องไม่ลืมเป้าหมายสูงสุดที่เพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง และให้บ้านเมืองสงบสุข” นางกาญจนารัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น