xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ให้เลือกนายกรัฐมนตรี 2 ทาง - ตัดอำนาจ ส.ว.สอบคุณสมบัติ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอทางเลือกนายกฯ 2 ทาง ส.ส. ใช้เสียงข้างมาก คนนอกใช้เสียง 2 ใน 3 ตัดนำชื่อ ครม. ให้ประธานวุฒิฯ สอบคุณสมบัติ โชว์สำเนาเสียภาษี 3 ปี ให้ตรวจสอบหลังพ้นตำแหน่ง และหยิบกฎหมายตีตกไม่ใช้ประชามติแล้ว ให้ ส.ส.- ส.ว. 1 ใน 3 พิจารณาตามข้อบังคับการประชุมแทน “สุรชัย” เผยพอใจ ชี้รับฟังความเห็นเต็มที่ จ่อชงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

วันนี้ (9 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ เป็นประธานในการประชุม วาระพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ได้เข้าสู่การพิจารณาที่อยู่ในหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรา 171 มีปรับถ้อยคำเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่ใช้คำว่าติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้ เป็นติดต่อกันเกินกว่าแปดปี เนื่องจากหากเขียนคำว่าวาระอาจทำให้เกิดการตีความในความหมายของคำว่าวาระ ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และนำไปโยงกับวาระ หรืออายุของสภา ขณะที่ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีได้นำมาตรา 172 และ 173 มารวมกัน และปรับถ้อยคำที่ว่าด้วยบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ส่วนในกรณีที่มีข้อกำหนดให้เมื่อพ้น 30 วัน นับแต่มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบตามเกณฑ์ ได้เพิ่มบทบัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำชื่อของผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง

ขณะที่มาตรา 174 ว่าด้วยให้นายกรัฐมนตรี นำชื่อผู้ซึ่งจะเป็นรัฐมนตรีส่งให้ประธานวุฒิสภา เพื่อจัดประชุมวุฒิเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ได้ตัดออกทั้งมาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขมาตรา 130 วรรคสองที่พิจารณาเสร็จแล้วก่อนหน้านี้ มาตรา 175 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ที่ประชุมได้พิจารณาปรับถ้อยคำของ (6) ว่าด้วยการแสดงสำเนาภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ให้ไปอยู่ในส่วนของการตรวจสอบเมื่อรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ขณะที่มาตรา 154 (5) ได้มีการปรับบทบัญญัติว่าด้วยการยืนยันร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนซึ่งสภาตีตก โดยต้องใช้การทำประชามติตัดสินให้ได้ข้อยุติ ให้เป็นสมาชิก ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ร้องขอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมแทน มาตรา 159 (2) ว่าด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ครม. กมธ. ยกร่างฯ ได้พิจารณาตัดออก

ต่อมา ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดคณะรัฐมนตรี โดยมีความเห็นร่วมกันว่าให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจาก 2 ทาง คือ 1. ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกจากบุคคลที่เป็น ส.ส. และ 2. ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. เท่าที่มีอยู่ในสภา ขณะเดียวกัน คณะ กมธ. ยกร่างฯ ยังกำหนดลงไปว่า หากเกิดกรณีที่พ้นกำหนด 30 วัน แต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำชื่อของบุคคลที่เป็น ส.ส. ที่ได้รับเสียงข้างมาก สภาผู้แทนราษฎร ทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ทั้งนี้ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ และนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้วุฒิสภาพิจารณาก่อน แต่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต้องเสนอแสดงสำเนาการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 5 ปี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะเดียวกัน คณะ กมธ. ยกร่างฯ ปรับแก้อำนาจของนายกรัฐมนตรีบางประการด้วย โดยนายกรัฐมนตรี สามารถขอให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติไว้วางใจตัวเองได้ตามมาตรา 181 แต่ไม่ตัดสิทธิ ส.ส. ในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังจากนั้น จากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญได้ห้ามเอาไว้ ส่วนมาตรา 182 ซึ่งให้นายกรัฐมนตรี สามารถเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินจากสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบได้ภายใน 48 ชั่วโมงนั้น คณะ กมธ. ยกร่างฯ ได้ตัดมาตรานี้ทิ้งออกทั้งหมด

ส่วนมาตรา 184 ว่าด้วยการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีนั้น คณะ กมธ. ยกร่างฯ ได้มีการปรับถ้อยคำ คือ ในกรณีที่จำนวนของรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีทั้งคณะ ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ จากเดิมที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงเข้ามารักษาการทันทีเมื่อคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุจากการยุบสภา นอกจากนี้ คณะ กมธ. ยกร่างฯ ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการดังกล่าวสามารถลาออกจากการรักษาการได้

สำหรับมาตรา 193 ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทางคณะ กมธ. ยกร่างฯ ได้แก้ไขในวรรคสาม โดยปรับให้หนังสือสัญญาที่เกี่ยวกับเขตการค้าเสรี เป็น หนังสือเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้า หรือ เปิดเสรีการลงทุน ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก หรือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือ เกี่ยวกับการใช้แบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการแก้ไขตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ขณะที่ในวรรคท้ายของมาตรานี้ได้เพิ่มอำนาจให้คณะรัฐมนตรีสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ด้านมาตรา 198 เรื่องการกำหนดให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมือง ที่ประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯได้ตัดถ้อยคำเรื่องการรับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมืองออกไป โดยให้เหลือเพียงความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่า กมธ. ยกร่างฯ มีการปรับแก้ไขบางส่วนตรงตามที่ สนช. เสนอไป แสดงให้เห็นว่า กมธ. ยกร่างฯ มีความพร้อมที่จะปรับปรุง รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ส่วนประเด็นการตั้งคำถามการทำประชามติของ สนช. นั้น มีการพูดคุยกันบ้างในชั้น กมธ. แต่ยังไม่มีการกำหนด หรือบรรจุเป็นวาระการประชุมของ สนช. เนื่องจากยังมีเวลา ต้องรอให้ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งคำถามมาก่อน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน โดยประเด็นที่อาจตั้งคำถาม คือ การปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และควรมีนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น