xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปมโอเพ่นลิสต์-กลุ่มการเมือง คำขอสปช.-ครม.ขัดใจประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งในขณะนี้คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 8 คำขอ และคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 1 คำขอ มีความแตกต่างไปจากผลสำรวจของเวทีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชน โดยนายคำนูณ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องนำมาประกอบการพิจารณากันทั้งหมด แต่ยอมรับว่าการที่ทั้งสองกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นเรื่องยากในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย แต่ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด อะไรก็ตามที่เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของประชาชน ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะต้องพยามคงไว้ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาสาระ
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าคำขอแก้ไขต่างๆ ทั้ง 9 กลุ่มคำขอ รวมไปถึงจากทางครม.เอง มีประสงค์ที่จะไม่ให้ตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา ทาง กมธ.ยกร่างฯ เองก็ต้องพยายามทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา อาทิ เรื่องสมัชชาพลเมือง ที่จะคงไว้ ก็ต้องให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นองค์กรใหม่ แต่เป็นกระบวนการของภาคประชาชน แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ออกมา แต่ก็จะมีอยู่แล้ว ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็คงจะได้ระบุเอาไว้ และให้เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ต่อไป
ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ พยายามที่จะลดความซ้ำซ้อนองค์กรต่างๆ ไม่ให้เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา แต่เรื่องสิทธิ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นก็จะยังคงสาระตามเดิมเอาไว้
เมื่อถามว่า มีเรื่องใดบ้างที่ทาง 9 กลุ่มคำขอ มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากกับความต้องการของกลุ่มประชาชน นายคำนูณ กล่าวว่าเรื่องของโอเพ่นลิสต์ ที่ถามกลุ่มประชาชนแล้วก็จะเห็นด้วย แต่ว่าใน 9 กลุ่มคำขอนั้น แทบทุกคำขอ กลับไม่เห็นด้วย เรื่องของกลุ่มการเมือง ที่ประชาชนเห็นด้วย แต่ว่าทาง 9 กลุ่มคำขอไม่เห็นด้วยเลย ก็คงจะต้องแก้ไขกันไป ส่วนผลสำรวจของประชาชนนั้น จะมีผลต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายมากน้อยแค่ไหนนั้น เรื่องนี้ตนตอบไม่ได้ คงต้องขึ้นอยู่กับในแต่ละประเด็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในอนาคตร่างรัฐธรรมนูญผ่านทั้งการเห็นชอบของสปช. และผ่านประชามติไปแล้ว เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีความต้องการให้ใส่เพิ่ม แต่ว่าทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกไป จะนำไปใส่เพิ่มในรูปแบบของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่าคงไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากไปดูในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถูกแก้ไข ก็จะพบว่า ในรายละเอียดเรื่องการทำประชามตินั้น ได้อนุญาตให้มีการตั้งคำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติ จำนวน 2 คำถาม ที่มาจากมติที่ประชุมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาละหนึ่งประเด็น โดยผ่านความเห็นชอบของครม. ถ้าหากว่าคำตอบของ 2 คำถาม จากผลประชามติออกมา ส่งผลให้ต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็เปิดโอกาสให้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ตนยังตอบอะไรไม่ได้มาก เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมี 2 คำถามนั้นหรือไม่ และ 2 คำถามนั้น จะเป็นอะไร

**เตือนกมธ.อย่าเขวจนสะเปะสะปะ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณีกมธ.ยกร่างฯ จะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 8 กลุ่มของสปช. เข้ารับฟังคำชี้แจงเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละประเด็นว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะประชุมหารือกันในวันที่ 6ก.ค. แต่ยังไม่แน่ใจ จะมีข้อสรุปว่าใครจะเป็นตัวแทนของกลุ่มหรือไม่ เพราะล่าสุด กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่แจ้งกำหนดวันแน่ชัดมา ส่วนกรณีมีกระแสข่าว ว่า สปช. เสนอให้การโหวตร่างเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นการลงมติลับนั้น ขณะนี้เป็นเพียงบุคคลเสนอความเห็น ยังไม่เป็นข้อยุติ ถ้ายุติแล้วประธานสปช. คงจะต้องประกาศให้ทราบ
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ตามภาพรวมการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ตนสนใจจับตา กมธ.ยกร่างฯ จะเอาอย่างไร เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เรื่องกลไกการตรวจสอบ ที่มักทำไม่สำเร็จ มักแพ้รัฐบาลเสียงข้างมาก อีกประเด็น คือ ที่มานายกรัฐมนตรี กมธ.ยกร่างฯ ปฏิรูปถอยหลังให้คนนอกมาเป็นนายกฯได้ มันเป็นประชาธิปไตยตรงไหน เมื่ออำนาจฝ่ายบริหารไม่เชื่อมโยงประชาชน ทำลายสามเสาหลักประชาธิปไตย การยืนยันไม่ตัดระบบเลือกตั้งโอเพ่นลิสต์ออก คือ อยากได้รัฐบาลอ่อนแออีกหรือไม่ ถ้านึกภาพรัฐบาลอ่อนแอไม่ออก ให้นึกถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่พรรคแกนนำ มีเสียงไม่ถึงครึ่ง จนถูกพรรคร่วมขี่คอ สรุปมีกระทรวงใดๆ เหลือให้พรรคประชาธิปัตย์บริหารบ้างนึกสิ ถ้าเกิดภาพการต่อรองแบบนี้อีก ประเทศจะมีอนาคตหรือ แบบนี้ไม่เรียกปฏิรูป แต่ถอยหลังเข้าคลอง
"ถ้าคุณจะเขียนมาตราอื่นดี ก็ไร้ประโยชน์ มันเหมือนคนเรา ปอดดี ไตดี กระเพาะดี แต่ว่าหัวใจรั่ว จะอยู่ได้อย่างไร มันก็ตาย แต่อย่าเขวตามเสียงติติง มันจะยิ่งสะเปะสะปะ ฝากไปถึงกมธ.ยกร่างฯ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ดี จะปฏิรูปการเมืองได้ ทำให้ประเทศเข้มแข็งได้ แต่ถ้าร่างมาไม่ดีจะทำให้การเมืองอ่อนแอ ประเทศจะไม่มีอนาคต"

**ต้องปรองดองตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องการปรองดองนั้น จะเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็เคารพ เรื่องใดไม่เกี่ยวข้องปรองดองได้หมดเพราะคนไทยด้วยกัน ไม่ต้องมาเหมา หรือแยกเป็นเข่งๆ ทั้งสิ้น ปกติเรื่องการนิรโทษกรรม จะนิรโทษเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดอาญาร้ายแรง
ส่วนที่ออกมาระบุกันทำนองว่า ให้มารับผิดก่อน แล้วค่อยนิรโทษ หรืออภัยโทษนั้น มองว่าในทางการเมือง มีแต่คนยอมตายดีกว่ารับผิดเพราะมันคือศักดิ์ศรี น่าอับอาย ไม่มีใครทำหรอก ฉะนั้น คำว่านิรโทษกรรม เขาถึงไม่ไปละเมิดความคิดความเห็นทางการเมืองกัน จะไปบังคับให้สำนึกผิด มันเท่ากับละเมิด ความเชื่อทางการเมืองมันทำไม่ได้ มันละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

** กมธ.ยกร่างฯ ควรทำงานอิสระ

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่ 9 กลุ่มคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดแตกต่างจากความต้องการของประชาชน ที่ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้รวบรวมผ่านทางเวทีรับฟังความเห็น ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะส่งผลทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย มีความยากลำบาก เพราะว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ นั้นควรทำงานด้วยความมีอิสระ ในเรื่องบางเรื่องมีรายละเอียดเชิงเทคนิคอยู่ ถ้าไปถามชาวบ้าน เอาสิ่งที่ประชาชนให้ความเห็นมาใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ในบางครั้งก็ไม่สามารถทำได้ พื้นฐานของชาวบ้านในการที่จะให้ความเห็นบางครั้งก็ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง เช่น ที่ผ่านมาประชาชนร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ตนก็บอกไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปดีเบตกัน และได้ข้อสรุปมาว่า มันทำไม่ได้ เพราะประเทศไทยปกครองโดยระบอบรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากจากสภา ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็ขัดกับระบบการปกครอง
ฉะนั้น กมธ.ยกร่างฯ ควรที่จะรับฟังข้อมูลต่างๆ จากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาชน หรือแค่จากทาง 9 กลุ่มความเห็น แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจ ต้องชั่งน้ำหนักให้เหมาะสม เพราะว่าความเห็นนั้น มีความหลากหลายมาก ไม่ควรไปตามใจทั้งหมด
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. ในฐานะรองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าการปรับแก้ ร่างรัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการยกร่างฯ เบื้องต้นมองว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ที่มีการปรับแก้ไขในหลายเรื่อง แต่ก็ยังเป็นห่วง เพราะไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีการแถลงถึงการปรับแก้แต่อย่างใด ตนเองรู้จากสื่อเท่านั้น จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้ว่าพอใจมากน้อยเพียงใด
นายดิเรก ยังกล่าวด้วยว่า กมธ.ควรที่จะมีการชี้แจงในประเด็นที่มีการปรับแก้ไขต่อสปช. เพื่อจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันถึงหลักการ และเหตุผล ในการปรับเปลี่ยนและการคงตามร่างเดิมของ กมธ.ในแต่ละมาตรา ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี ส่วนกรณีที่จะเชิญผู้เสนอแก้ไขไปฟังคำชี้แจงนั้นพร้อมที่จะไปรับฟังอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น