ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ พิจารณาหมวดปฏิรูปและปรองดอง ยุบย่อสาระปฏิรูปจาก 15 เหลือ 4 มาตรา ยุบรวมคณะกรรมการเหลือคณะเดียว ให้กรรมาธิการยกร่างฯ ไปจัดตั้งเป็นอนุกรรมาธิการร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ แต่ต้องผ่านด่าน สนช. อีกที ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าไม่ใช่เรื่องสถาบันและรูปแบบของรัฐ ใช้เสียง 2 ใน 3 แล้วทำประชามติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญกลั่นกรอง ให้ประเมินผลรัฐธรรมนูญทุก 5 ปี ส่วนแนวคิด 2 ใบเหลืองเป็นใบส้มรอขั้นตอนร่างกฎหมายลูก
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ได้ผ่านการพิจารณาหมวดปฏิรูปและปรองดอง โดยหลักการให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับยุทธศาสตร์ทำหน้าที่เรื่องการปฏิรูปและการปรองดองเป็นคณะเดียว จากร่างเดิมที่แยกเป็นสองคณะ โดยให้ กมธ. ยกร่างฯ ไปพิจารณานำมาเสนอโครงสร้างมานำเสนอสัปดาห์หน้า เพราะมีแนวคิดดำเนินการได้ 2 - 3 รูปแบบ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนเนื้อหาของการปฏิรูปซึ่งเดิมบัญญัติไว้ 15 มาตรานั้น ที่ประชุมพิจารณายุบย่อลงเหลือเพียง 4 มาตรา โดยมี 4 - 5 วงเล็บต่อหนึ่งมาตรา ให้เหลือเพียงหัวข้อและแนวทางที่อยากให้การปฏิรูปเดินไปในทิศทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันและการปราบปรามทุจริต การศึกษา การสาธารณสุข สังคมและวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านผังเมือง ด้านพลังงาน และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
ส่วนรายละเอียดเนื้อหาสำคัญตามร่างเดิม ให้กรรมาธิการยกร่างฯ ไปจัดตั้งเป็นอนุกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง โดยมีผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 18 ด้านมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการร่วม โดยเบื้องต้นจะยกร่างให้แล้วเสร็จในวันที่ 22 ส.ค. แล้วจะส่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ส.ค. ส่วนจะมีการขยายเวลาทำงานของ กมธ. ยกร่างฯ และทำให้ขยายเวลาการทำงานของอนุกรรมาธิการดังกล่าวด้วยหรือไม่ก็ค่อยลงมติในวันที่ 21 ส.ค. อีกที แต่สุดท้ายก็จะให้มีร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปรองดอง เสนอให้พิจารณาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่ สปช. จะลงมติ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับออกมาบังคับใช้จะต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกที ซึ่งจะมีการบัญญัติไว้ว่าจะต้องมี กมธ. ยกร่างฯ เข้าไปเป็นกรรมาธิการร่วมกันด้วย
ต่อข้อถามถึงอำนาจของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เช่น เรื่องอภัยโทษได้ยังมีบรรจุหรือไม่นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ไปว่ากันทีหลัง
นอกจากนี้ วันนี้ได้พิจารณาบทสุดท้าย ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 299 - 303 โดยยังคงยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในร่างแรก ที่กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะมีสามส่วน ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และรูปของรัฐที่แก้ไขไม่ได้ ส่วนที่เป็นหลักการสาระสำคัญจะแก้ไขได้โดยต้องผ่านเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาแล้วต้องนำไปทำประชามติ และส่วนที่เหลือที่แก้ได้ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเองในวาระที่สาม โดยมีขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่กลั่นกรองว่าการแก้ไขดังกล่าวจะอยู่ในแนวทางใด
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ยังมีการปรับแก้เพียงเล็กน้อย ในมาตรา 303 โดยกำหนดชัดว่าเมื่อครบรอบ 5 ปี ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ให้เวลาทำงาน 6 เดือน เพื่อพิจารณาทำรายงานว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง แล้วส่งรายงานไปยังรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกรอบ 5 ปี
โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า วันพรุ่งนี้ กมธ. ยกร่างจะพิจารณา 4 - 5 เรื่องที่แขวนไว้ เช่น เอกสิทธิ์คุ้มครองของสมาชิกรัฐสภา คณะกรรมการสรรหา ส.ว. การที่ ส.ส. คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ประสงค์ใช้สิทธิจะใช้เกณฑ์อะไรพิจารณาการจัดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เป็นต้น จากนั้นพิจารณาบทเฉพาะกาล แล้วกลับไปต่อเรื่องโครงสร้างองค์กรปฏิรูปและการปรองดองในสัปดาห์หน้า
ต่อข้อถามถึงอำนาจออกสองใบเหลืองเป็นหนึ่งใบส้มที่ กกต. เสนอนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ยกไปให้พิจาณาในขั้นตอนของการยกร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญอีกทีว่าจะเพิ่มเติมเข้าไปได้หรือไม่