xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แจงนายกฯ มาจากใครก็ได้เผื่อแก้วิกฤต เชื่อ ส.ส. จะไม่เลือกคนนอกเป็นนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ.ยกร่างฯ ยันให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ อ้างเปิดทางตันช่วงวิกฤต มั่นใจสภาฯ ต้องเลือก ส.ส.ก่อน เพิ่ม 3 แนวทางปกป้องเสถียรภาพรัฐบาลผสม คุ้มครองกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ส่วน ส.ว. ริเริ่มกฎหมายได้ ด้าน “บรรเจิด” อ้างรัฐบาลผสมทำให้มีเสถียรภาพ พรรคกลาง-เล็กอำนาจต่อรองสูง กมธ. แนะตีความ “ภาวะวิกฤต” ให้ชัดกันปัญหายุ่งยาก


วันนี้ (26 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากการเลือกโดยเสียงข้างมากของ ส.ส. ในสภาที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง บุคคลคนเดียวสามารถเป็นนายกฯ ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยมีประเด็นที่เป็นที่จับตามอง คือ เปิดกว้างให้นายกฯ มาจาก ส.ส.หรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุผลว่าเปิดไว้เผื่อกรณีวิกฤต โดยเชื่อว่าโดยปกติ ส.ส.จะไม่เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ มีความเห็นแตกต่างกันกรณีนายกรัฐมนตรีที่เปิดกว้างให้มาจากบุคคลภายนอกนั้น ควรจะมีเงื่อนไขหรือระบุกรณีวิกฤติไว้โดยเฉพาะเท่านั้นหรือไม่ แต่หลังจากหยั่งเสียงอย่างไม่เป็นทางการพบว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้เปิดกว้างให้มาจากทั้ง ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเป็นพิเศษ

“ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าเชื่อว่า ส.ส.ในระบบใหม่ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง และมีความเป็นอิสระจากมติพรรคแล้ว น่าจะตัดสินใจเลือกนายกฯ ที่เป็น ส.ส.ก่อน เพื่อตอบคำถามของสังคมได้ เนื่องจากเคยมีบทเรียนการเอานายกฯ มาจากคนนอกจากกรณีพฤษภาทมิฬปี 2553 ดังนั้นไม่ว่าการเอานายทุน หรือผู้มีอำนาจที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ ก็จะถูกกระแสสังคมต่อต้าน แต่ก็ควรเปิดช่องไว้ในกรณีที่ ส.ส. ในสภาเห็นว่าเป็นภาวะวิกฤตจริงๆ ที่จำเป็นต้องหาคนนอกที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย มาทำหน้าที่นายกฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติให้ลุล่วง” นายคำนูณกล่าว

นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังเห็นชอบให้มี 3 แนวทางคุ้มครองเสถียรภาพรัฐบาลผสมในอนาคต ผ่านกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย 1. ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวดให้ยุบสภา 2. นายกฯ ยื่นญัตติให้โหวตไว้วางใจหรือไม่ได้เอง 3. นายกฯ มีอำนาจกำหนดว่ากฎหมายใดมีความสำคัญ และเปิดท้าทายฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมง เพื่อปรามพรรคร่วมรัฐบาลเองว่าอาจนำไปสู่การต้องยุบสภาได้

นายคำนูณกล่าวว่า ในส่วนของวุฒิสภาจะมีอำนาจเพิ่มด้วยการเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายได้เช่นเดียวกับสภาผู้แทนฯ หากวุฒิสมาชิกเข้าชื่อเสนอไม่น้อยกว่า 40 คน โดยกระบวนการพิจารณาจะสลับกับกรณีของร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยสภาผู้แทนฯ กล่าวคือพิจารณาสามวาระจากวุฒิสภาก่อน แล้วส่งให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาสามวาระ หากสภาผู้แทนฯ แก้ไขโดยวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ให้ตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา แล้วส่งกลับให้แต่ละสภาเห็นชอบในกรณีที่สภาผู้แทนไม่เห็นชอบ วุฒิสภายืนยันด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งให้นำร่าง พ.ร.บ.นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ แต่จุดที่สะท้อนว่าสภาผู้แทนยังเป็นหลักในการเสนอกฎหมายคือ ในกรณีที่ร่างกฎหมายใดตกไป เมื่อเวลาผ่านไป 180 วัน สภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่จะหยิบยกกลับมาเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากได้

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ในส่วนของวุฒิสภาจะมีอำนาจเพิ่มด้วยการเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายได้เช่นเดียวกับสภาผู้แทนฯ หากวุฒิสมาชิกเข้าชื่อเสนอไม่น้อยกว่า 40 คน โดยกระบวนการพิจารณาจะสลับกับกรณีของร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยสภาผู้แทนฯ กล่าวคือพิจารณาสามวาระจากวุฒิสภาก่อนแล้วส่งให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาสามวาระ หากสภาผู้แทนฯ แก้ไขโดยวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ให้ตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา แล้วส่งกลับให้แต่ละสภาเห็นชอบ ในกรณีที่สภาผู้แทนไม่เห็นชอบ วุฒิสภายืนยันด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งให้นำร่าง พ.ร.บ.นั้นขึ้นทูลเกล้า แต่จุดที่สะท้อนว่าสภาผู้แทนยังเป็นหลักในการเสนอกฎหมายคือ ในกรณีที่ร่างกฎหมายใดตกไป เมื่อเวลาผ่านไป 180 วัน สภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่จะหยิบยกกลับมาเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากได้

นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่เฉลี่ยตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ให้กับพรรคฝ่ายค้าน ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อและรับการโหวดในสภาได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 เป็นประธานสภาผู้แทนฯ อันดับที่ 2 เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 ส่วนเป็นรองประธานฯ คนที่ 2 ให้เสนอจากพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ในสภาเป็นอันดับที่ 3 ทั้งนี้ยังเพิ่มให้รองประธานสภาผู้แทนฯ ได้มีส่วนเข้าร่วมในการพิจารณาว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดที่สงสัยนั้นเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่อีกด้วย นอกจากนี้เพื่อความเป็นกลาง ผู้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ หรือรองประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา จะตั้งวางตัวเป็นกลางทางการเมืองทั้งการปฏิบัติหน้าที่ และการให้ความเห็นส่วนตัวด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ นอกจากดำรงตำแหน่งในพรรคหรือกลุ่มการเมืองไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วยังห้ามเข้าร่วมประชุมพรรคหรือกลุ่มการเมืองไม่ได้ด้วย

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้ใช้ระบบรัฐสภาแบบแบ่งแยกอำนาจไม่ให้รัฐมนตรีเป็น ส.ส. และโดยที่โครงสร้างการจัดรูปแบบเลือกตั้ง MMP มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลมีปัญหาเสถียรภาพเนื่องจากพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองสูง จำเป็นต้องเพิ่มดุลยภาพด้วยมาตรการถ่วงดุลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพไว้ 3 เรื่อง คือ 1. กรณีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจหากเสียงโหวดฝ่ายค้านชนะ ต้องยุบสภาโดยปริยาย 2. นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ยื่นญัตติถามความไว้วางใจของสภาเองได้ และให้โหวดภายใน 7 วัน เพื่อเป็นการสยบความปั่นป่วนภายในพรรคร่วมรัฐบาลเองด้วยการส่งสัญญาณว่าพร้อมจะยุบสภา โดยนายกฯ ยังมีสิทธิ์เลือกว่าจะยุบสภาหรือไม่ก็ได้ 3. นายกฯ สามารถประกาศว่าร่าง พ.ร.บ. หรือบทบัญญัติส่วนใดที่เห็นว่ามีความสำคัญที่จะต้องผ่านความเห็นชอบ เมื่อเสนอแล้วต้องรอ 48 ชั่วโมงเพื่อให้ฝ่ายค้านจะตัดสินใจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือไม่ ถ้าไม่มีการยื่นญัตติก็ถือว่าหากกฎหมายนั้นผ่านสภาผู้แทนฯ ไป แต่ทั้งนี้ทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่งเท่านั้น

นายบรรเจิดย้ำว่า มาตรการทั้งสามเพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัฐบาลผสมไม่ให้สั่นคลอนง่ายจนเกินไป โดยเฉพาะมาตรการที่ 2 และ 3 มีขึ้นเพื่อปรามพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองเป็นหลักว่าหากมีปัญหาการต่อรองผลประโยชน์ แลกกับการผ่านกฎหมายสำคัญ นายกฯ ก็สามารถส่งสัญญาณได้ด้วยการขอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเอง หรือใช้มาตรการกำหนดให้เป็นกฎหมายสำคัญเพื่อเปิดช่องให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจซึ่งผลคือความเสี่ยงต่อการยุบสภา

“เหตุที่ให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ เพราะ ส.ว.ชุดใหม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงรูปแบบอย่างการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดว่า ร่างกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของประชาชนไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน เมื่อเสนอแล้ว สภาผู้แทนฯ รับร่างมา หรือรับคืนจากรัฐบาลในกรณีที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินจะต้องพิจารณาภายใน 180 วัน และในกรณีที่มีการยุบสภา ร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนเข้าชื่อนี้จะถูกหยิบยกมาพิจารณาในรัฐสภาชุดใหม่โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้ ครม. หรือสภาพิจารณาว่าจะหยิบยกหรือไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เสนอโดยรัฐบาล หรือสภาฯ ชุดเดิม นอกจากนี้ในระหว่างที่คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยังดำรงอยู่ ให้สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. มีอำนาจเสนอและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้ภาคที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหยั่งเสียงดังกล่าวพบว่าเสียงส่วนใหญ่ 17 เสียงสนับสนุนแนวทางข้างต้น ส่วนที่เหลือเป็นข้อเสนอให้มีเงื่อนไขกำกับ เช่นกรณีที่จะเลือกนายกฯ จากคนนอกจะต้องอาศัยเสียงในสภาที่มากกว่าปกติ เพื่อให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤติเท่านั้น และอีกส่วนที่เสนอว่าแม้จะให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ แต่ควรกำหนดวาระเพียง 2 ปี แต่ก็ให้ต่อไปอีกวาระหากสภาเห็นชอบ

ขณะที่กรรมาธิการบางส่วนเห็นว่าการจะระบุว่าให้ทำได้ในภาวะวิกฤตเท่านั้น คำว่า ‘ภาวะวิกฤต’ เป็นความหมายกว้างที่จะต้องตีความทำให้เกิดความยุ่งยาก ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่าอาจถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดช่องสืบทอดอำนาจของใครบางคน ควรจะกำหนดมาตรการที่ทำให้ข้อยกเว้นกรณีพิเศษไม่กลายเป็นหลักปฏิบัติไป


กำลังโหลดความคิดเห็น