สปช. เห็นชอบตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ให้วุฒิสภาแต่งตั้ง หวังคุมประพฤตินักการเมือง “เทียนฉาย” แนะเร่งใช้ก่อนมีรัฐธรรมนูญ ขีดกรอบยกร่าง พ.ร.บ. ภายใน 60 วันก่อนส่งต่อ สนช. เห็นชอบเป็นกฎหมาย ด้าน อนุ กมธ. ปฏิรูปเกษตร แนะรัฐขยายตลาดรับซื้อขายยางเพิ่ม 108 แห่ง พร้อมเสนอแปรรูปยางถ้วยเป็นยางแท่ง
วันนี้ (6 ม.ค.) ความเคลื่อนไหวของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่รัฐสภา ที่ประชุม สปช. ได้มีการพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกับการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ของ คณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายพลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และ ธรรมาภิบาล ได้เสนอรายงานว่า จากการศึกษาพบว่าสถานการณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลของประเทศอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างหนัก กระทบต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูและพัฒนาทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ “เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง กรรมการในองค์กรตรวจสอบในการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ นักการเมืองท้องถิ่น สอบทานการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่านขอให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) ตรา พ.ร.บ. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ก่อนจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่หลังกระบวนการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำหน้าที่รณรงค์ทางสังคมฟื้นฟูแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลให้เกิดผลต่อการปฏิรูปก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 โดยให้มีโครงสร้างของคณะกรรมาธิการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 5 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยการแนะนำของวุฒิสภา
นายพลเดช กล่าวว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวยังให้มีที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มาจากตัวแทนภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของบุคคลและองค์กรข้างต้น และจัดกระบวนการสอบทานการปฏิบัติของบุคคลดังกล่าวโดยมีการลงมติการตัดสินพฤติกรรม และประกาศรายงานข้อมูลต่อสาธารณะ โดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติทั้ง 5 คน และที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะไม่มีเงินเดือนประชุม มีแต่เบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายจำเป็นและค่าตอบแทน ส่วนการบริหารจะใช้ศูนย์คุณธรรมเป็นสำนักงาน และทุนรายได้ทรัพย์สินจะมาจากเงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากศูนย์คุณธรรม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้รายปี และเงินอุดหนุนจากเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศหรือเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
“ข้อเสนอนี้มั่นใจว่าเป็นการปฏิรูป เพราะเปลี่ยนกระบวนวิธีคิดและแนวทางการจัดการปัญหา เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ลึกที่สุด เป็นการปฏิรูปเร็วใน 1 ปี จากเดิมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลักมาเป็นการใช้มาตรการทางสังคมนำหน้าหนุนเสริมกัน เป็นกลไกบูรณาการทุกองค์กรที่มีอยู่ เป็นเครื่องนำพาการสร้างพลังทางสังคม บนฐานการใช้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ เป็นแนวทางใหม่ที่มุ่งใช้พลังแบบอ่อนมาเสริมพลังกฎหมายที่เป้นพลังแบบแข็ง ไม่ได้มีการตั้งองค์กรใหม่ โดยยกเลิกองค์กรเดิมและจัดตั้งใหม่มาแทน มีขอบเขตการทำงานแคบเพียงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล ส่วนด้านกฎหมายยังเป็นขององค์กรอิสระเดิม” นายพลเดช กล่าว
ด้าน นายอำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปคุณธรรมฯ กล่าวว่า บ้านเราให้ความสนใจการปราบปรามการทุจริตโดยการใช้กฎหมาย เป็นเหรียญด้านหนึ่ง อีกด้านคือการส่งเสริมซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านกลับให้ความสำคัญไม่มาก สิ่งที่เสนอจึงเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดไป เพราะการป้องกันปราบปรามการทุจริตนั้นหากใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวมันไม่สำเร็จ จำเป็นต้องใช้อำนาจสังคมมาช่วย ดังนั้น อย่ามองว่ามันเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีอำนาจ
ทั้งนี้ สปช. ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยในหลักการ โดยมีข้อเสนอในรายละเอียด เช่น จำนวนกรรมการ ความเร่งด่วนของการผลักดันกฎหมายที่แตกต่างกันเล็กน้อย อาทิ นางกอบกาญจน์ พันเจริญวรกุล สปช. อภิปรายว่าเป็นห่วงเรื่องที่มาของกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติทั้ง 5 เพราะมีหน้าที่ที่สำคัญมาก ที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยคำแนะนำของวุฒิสภา เพราะที่ผ่านมาสังคมเกิดความไม่ปรองดองทำให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภามักถูกกระแสการเมืองโจมตีจนเสียหาย
นายสยุมพร ลิ่มไทย สปช. กล่าวว่า อยากให้ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นยักษ์ที่มีกระบอง อย่างน้อยควรมีอำนาจที่จะไตร่สวนกรณีทำผิดจริยธรรมคุณธรรมได้ ส่วนบทลงโทษแม้จะกำหนดโดยตรงไม่ได้ แต่ก็ควรเชื่อมโยงไปให้ถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การถอดถอนซึ่งนักการเมืองเกรงกลัว และอาจกำหนดให้ผู้กระทำผิดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรงถือเป็นการคุณสมบัติของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และการบังคับใช้จริง
ขณะที่ นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่ สปช. จะต้องยกร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปด้วย ก็ขอรับที่จะไปตั้งคณะกรรมาธิการร่วมใน สปช. เพื่อยกร่าง พ.ร.บ. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อกลับมาเสนอ สปช. ก่อนที่จะนำเสนอให้ สนช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบเป็นกฎหมายอีกที
“เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องที่ต้องนำไปใช้กับนักการเมือง ซึ่งจะรอให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยมาออก พ.ร.บ. ทางสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะทำงานไม่ทัน จึงขอหารือ สปช. หากเห็นชอบ ก็จะให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปคุณธรรมไปยกร่าง พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยจะต้องเห็นผลการดำเนินการใน 60 วัน แล้วจึงส่งต่อให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้ก่อน และเมื่อถึงเวลายกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ค่อยแปรสภาพเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกที” นายเทียนฉาย ระบุ
อีกด้านหนึ่ง นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า ตามที่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยางนัดที่จะเคลื่อนไหวให้รัฐบาลช่วยเหลือราคายางนั้น ตนเห็นว่าเหตุผลที่มาตรการ 16 มาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ความช่วยเหลือไม่เกิดผลสำเร็จที่แท้จริง โดยเฉพาะการนำไปปฏิบัติในระดับข้าราชการเนื่องจากมีปัญหาติดขัดในกฎระเบียบที่มีอยู่ จึงขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่รับผิดชอบดูแลให้ทั่วถึง ส่วนมาตรการแก้ไขราคายางระยะยาวรัฐบาลควรขยายตลาดรับซื้อน้ำยางดิบเพิ่มเติมจากตลาดของสถาบันวิจัยยาง 6 แห่ง รวมเอาตลาดของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอีก 108 แห่ง จะทำให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุมทั่วถึง
นอกจากนี้ ขอเสนอโครงการรวบรวมผลผลิตยางก้อนถ้วยแปรรูปเป็นยางแท่งเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยรวบรวมยางก้อนถ้วยแปรรูปที่มีอยู่เพื่อนำไปแปรรูปเป็นยางแท่ง มาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพราคายาง และส่งผลให้บางก้อนถ้วยมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการต้องมีงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อซื้อยางถ้วยมาแปรรูปโดยหากสามารถดำเนินการแปรรูปได้ 1 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน จะสามารถทำให้ราคายางพาราในตลาดมีเสถียรภาพดีขึ้น