xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยาหอม “ทุนกิมจิ” ยังมีพื้นที่-โอกาสลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ เผยผลสำเร็จการประชุมอาเซียน - เกาหลี เชิญชวนลงทุนเทคโนโลยี และ นวัตกรรม - พลังงานทดแทน - การเกษตร และเทคโนโลยีกำจัดขยะ เสนอเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิตอล โครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ และแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ เผย ปธน. เกาหลี ขอไทยพิจารณาการลงทุนภาคเอกชน ย้ำไทยมีพื้นที่และโอกาสสำหรับนักลงทุนเกาหลีอีกมาก

วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงภาพรวมความสำเร็จในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้นำทุกประเทศของอาเซียน และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เข้าร่วม การประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมสำคัญของการฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน - เกาหลีใต้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข (Builiding Trust, Bringing Happiness)” โดยนายกรัฐมนตรีมีภารกิจหลัก คือ การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (11 ธ.ค.) และ การประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ (12 ธ.ค.) ทั้งยังได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้นำที่สำคัญ อาทิ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และ เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ตลอดจนพบกับภาคเอกชนชั้นนำของเกาหลีใต้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเทศไทย

โดยการประชุม ASEAN - ROK CEO Summit มีนักธุรกิจระดับผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ ของเกาหลีใต้ และอาเซียนเข้าร่วม โดยนายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติเป็นผู้บรรยายพิเศษ และได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และบทบาทของเอเชีย พร้อมกับเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้ในสาขาที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ สาขาธุรกิจที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานทดแทน และการเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการกำจัดขยะ และการสร้างพลังงานจากขยะเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญอันดับต้นกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของเกาหลีใต้สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนใน 5 จังหวัดชายแดน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาคเอกชนของเกาหลีใต้ก็สามารถมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเหล่านี้ได้

ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ (ASEAN - ROK Commemorative Summit) ซึ่งมีผู้นำจาก 10 ประเทศอาเซียน และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เข้าร่วม ช่วงที่ 1 เป็นการทบทวนความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี และทิศทางในอนาคต (Review of ASEAN - ROK Relations and its Future Direction)” นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวิสัยทัศน์ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - เกาหลีใต้ (Joint Statement on our Future Vision of ASEAN - ROK Strategic Partnership) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ภายใต้หัวข้อ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข (Builiding Trust, Bringing Happiness)” ต่อไปในอนาคต

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำศักยภาพของความร่วมมือระหว่างอาเซียน - เกาหลีใต้ และ ไทย - เกาหลีใต้ ว่า สามารถเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยสาขาการพัฒนาที่มีความสำคัญอันดับต้นนั้น ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังควรสนับสนุนให้สภาธุรกิจอาเซียน - เกาหลีใต้ และศูนย์อาเซียน - เกาหลี มีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ที่สนับสนุนอาเซียนในการเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ช่วงที่ 2 ความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Discussion on Non - Tradition Security Issues) นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการขยายตัวของความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด โรคติดต่อร้ายแรงและโรคอุบัติใหม่ เช่น อีโบลา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ โดยได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือด้านป่าไม้ระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ และการจัดตั้งองค์การความร่วมมือป่าไม้แห่งเอเชีย ตลอดจนกล่าวสนับสนุนเกาหลีใต้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไฟป่าโลกครั้งที่ 6 ในปี 2558

ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคกับนางสาวปัก กึน - ฮเย (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น อาทิ การค้าการลงทุน โดยฝ่ายเกาหลีใต้ ได้ขอให้ไทยพิจารณาภาคเอกชนของเกาหลีใต้ที่เสนอเข้าไปลงทุนในสาขาต่างๆ ในประเทศไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เกาหลีใต้ดูแลการนำเข้าสินค้าไทยที่ยังติดอุปสรรคต่างๆ เช่น ผลไม้ ซึ่งไทยได้ขอให้เพิ่มโควตาการนำเข้า จากปัจจุบันที่นำเข้าได้ 7 ชนิด และไก่สดแช่แข็งของไทย ซึ่งปลอดโรคไข้หวัดนกมา 5 ปี แล้ว โดยหลายประเทศที่มีมาตรฐานสุขอนามัยสูงได้ยกเลิกมาตรห้ามดังกล่าวนานแล้ว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ควรใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมาธิการร่วม (JC) มาเร่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ซึ่งท่านทรงมีความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองของไทยและสนับสนุนประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มาโดยตลอด โดยได้ใช้โอกาสนี้ แสดงความซาบซึ้งที่ได้ทรงมอบทุนการศึกษาของรัฐบาลบรูไนให้กับเยาวชนของไทยในจังหวัดชายแดนใต้ โดยทางบรูไน แจ้งว่า เขาต้องการความร่วมมือจากไทยในการพัฒนาด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งเรายินดีร่วมมือกับบรูไนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การเกษตร ประมง และพลังงาน

ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของเกาหลีใต้ และให้ความมั่นใจแก่นักธุรกิจเกาหลี ว่า ไทยยังมีพื้นที่และโอกาสการลงทุนสำหรับภาคเกาหลีอีกมาก พร้อมย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะดูแลนักลงทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และสนับสนุนการลงทุนจากเกาหลีใต้ในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาคเอกชนเกาหลีต่างให้ความสนใจที่จะเริ่มต้นและขยายการลงทุนในโทยมากขึ้นและเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ






กำลังโหลดความคิดเห็น