xs
xsm
sm
md
lg

รธน.เปิดรับนายกฯคนนอก อดีตส.ส.โวยที่มาส.ว.-อำนาจล้นฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบให้ นายกรัฐมนตรี มีที่มาจากการเลือกโดยเสียงข้างมากของ ส.ส. ในสภา ที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง บุคคลๆ เดียวสามารถเป็นนายกฯ ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยมีประเด็นที่เป็นที่จับตามอง คือเปิดกว้างให้นายกฯ มาจากส.ส. หรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุผลว่า เปิดไว้เผื่อกรณีวิกฤติ โดยเชื่อว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ ส.ส. จะไม่เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ
ทั้งนี้ในที่ประชุม มีความเห็นแตกต่างกันในกรณีนายกรัฐมนตรี ที่เปิดกว้างให้มาจากบุคคลภายนอกนั้น ควรจะมีเงื่อนไข หรือระบุกรณีวิกฤติไว้โดยเฉพาะเท่านั้นหรือไม่ แต่หลังจากหยั่งเสียงอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้เปิดกว้างให้มาจากทั้ง ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเป็นพิเศษ
" ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นโดยเชื่อว่า ส.ส. ในระบบใหม่ ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง และมีความเป็นอิสระจากมติพรรคแล้ว น่าจะตัดสินใจเลือกนายกฯ ที่เป็นส.ส. ก่อน เพื่อตอบคำถามของสังคมได้ เนื่องจากเคยมีบทเรียนการเอานายกฯ มาจากคนนอก จากกรณีพฤษภาทมิฬ ปี 2553 ดังนั้นไม่ว่าการเอานายทุน หรือผู้มีอำนาจ ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ ก็จะถูกกระแสสังคมต่อต้าน แต่ก็ควรเปิดช่องไว้ ในกรณีที่ส.ส. ในสภาเห็นว่าเป็นภาวะวิกฤติจริง ๆ ที่จำเป็นต้องหาคนนอก ที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย มาทำหน้าที่นายกฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติให้ลุล่วง" นายคำนูณ กล่าว
นอกจากนี้ กมธ. ยกร่างฯ ยังเห็นชอบให้มี 3 แนวทาง คุ้มครองเสถียรภาพรัฐบาลผสมในอนาคต ผ่านกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย 1. ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวต ให้ยุบสภา 2. นายกฯ ยื่นญัตติให้โหวตไว้วางใจหรือไม่ ได้เอง 3. นายกฯ มีอำนาจกำหนดว่า กฎหมายใดมีความสำคัญ และเปิดท้าทายฝ่ายค้าน ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมง เพื่อปรามพรรคร่วมรัฐบาลเองว่า อาจนำไปสู่การต้องยุบสภาได้

**ส.ว.40 คน เข้าชื่อเสนอกม.ได้

นายคำนูณ กล่าวว่าในส่วนของวุฒิสภา จะมีอำนาจเพิ่มด้วยการเป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายได้ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนฯ หากวุฒิสมาชิกเข้าชื่อเสนอไม่น้อยกว่า 40 คน โดยกระบวนการพิจารณา จะสลับกับกรณีของ ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยสภาผู้แทนฯ กล่าวคือ พิจารณา 3 วาระ จากวุฒิสภาก่อน แล้วส่งให้สภาผู้แทนฯ พิจารณา 3 วาระ หากสภาผู้แทนฯ แก้ไขโดยวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ให้ตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา แล้วส่งกลับให้แต่ละสภาเห็นชอบ ในกรณีที่สภาผู้แทนไม่เห็นชอบ วุฒิสภายืนยันด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้นำร่าง พ.ร.บ.นั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่จุดที่สะท้อนว่า สภาผู้แทนยังเป็นหลักในการเสนอกฎหมายคือ ในกรณีที่ร่างกฎหมายใดตกไป เมื่อเวลาผ่านไป 180 วัน สภาผู้แทนฯ เท่านั้น ที่จะหยิบยกกลับมาเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากได้
นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่เฉลี่ยตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ให้กับพรรคฝ่ายค้าน ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อและรับการโหวตในสภาได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 เป็นประธานสภาผู้แทนฯ อันดับที่ 2 เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 ส่วนเป็นรองประธานฯ คนที่ 2 ให้เสนอจากพรรคที่มีจำนวนส.ส. ในสภาเป็นอันดับที่ 3 ทั้งนี้ ยังเพิ่มให้รองประธานสภาผู้แทนฯ ได้มีส่วนเข้าร่วมในการพิจารณาว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดที่สงสัยนั้น เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อความเป็นกลาง ผู้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ หรือรองประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ และการให้ความเห็นส่วนตัวด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของประธาน และรองประธานสภาผู้แทนฯ นอกจากดำรงตำแหน่งในพรรค หรือกลุ่มการเมืองไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ยังห้ามเข้าร่วมประชุมพรรค หรือกลุ่มการเมืองไม่ได้ด้วย

** วางจุดสร้างเสถียรภาพรัฐบาล

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้ ใช้ระบบรัฐสภาแบบแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้รัฐมนตรีเป็น ส.ส. และโดยที่โครงสร้างการจัดรูปแบบเลือกตั้ง MMP มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลมีปัญหาเสถียรภาพ เนื่องจากพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลาง จะมีอำนาจต่อรองสูง จำเป็นต้องเพิ่มดุลยภาพด้วยมาตรการถ่วงดุลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพไว้ 3 เรื่อง คือ
1. กรณีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจหากเสียงโหวดฝ่ายค้านชนะ ต้องยุบสภาโดยปริยาย
2. นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ยื่นญัตติ ถามความไว้วางใจของสภาเองได้ และให้โหวดภายใน 7 วัน เพื่อ เป็นการสยบความปั่นป่วนภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ด้วยการส่งสัญญาณว่า พร้อมจะยุบสภา โดยนายกฯยังมีสิทธิ์เลือกว่าจะยุบสภาหรือไม่ก็ได้
3. นายกฯ สามารถประกาศว่า ร่าง พ.ร.บ. หรือบทบัญญัติส่วนใด ที่เห็นว่ามีความสำคัญที่จะต้องผ่านความเห็นชอบ เมื่อเสนอแล้วต้องรอ 48 ชั่วโมง เพื่อให้ฝ่ายค้านจะตัดสินใจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ หรือไม่ ถ้าไม่มีการยื่นญัตติ ก็ถือว่าหากกฎหมายนั้นผ่านสภาผู้แทนฯไป แต่ทั้งนี้ทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่งเท่านั้น
นายบรรเจิด ย้ำว่า มาตรการทั้งสามเพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัฐบาลผสม ไม่ให้สั่นคลอนง่ายจนเกินไป โดยเฉพาะมาตรการที่ 2 และ 3 มีขึ้นเพื่อปรามพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองเป็นหลัก ส่วนเหตุที่ให้อำนาจ ส.ว. เสนอกฎหมายได้ เพราะ ส.ว. ชุดใหม่ มีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงรูปแบบอย่างการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดว่า ร่างกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของประชาชนไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน เมื่อเสนอแล้ว สภาผู้แทนฯ รับ ร่างมา หรือรับคืนจากรัฐบาล ในกรณีที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จะต้องพิจารณาภายใน 180 วัน และในกรณีที่มีการยุบสภา ร่าง พ.ร.บ. ที่ประชาชนเข้าชื่อนี้จะถูกหยิบยกมาพิจารณาในรัฐสภาชุดใหม่โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้ ครม. หรือสภาพิจารณาว่า จะหยิบยกหรือไม่ต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.อื่น ๆ ที่เสนอโดยรัฐบาล หรือสภาฯ ชุดเดิม
** ส.ว.ทางอ้อมหนักกว่าสภาผัวเมีย
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณี กำหนดให้ที่มาของส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจำนวนไม่เกิน 200 คน ว่า เรื่องนี้อันตราย เพราะเป็นการลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจอดีตข้าราชการของรัฐ เข้ามาในสัดส่วนของ ส.ว.สรรหา เพื่อให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะอันตรายมากไปอีก หากมีการเพิ่มอำนาจให้ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะยิ่งกลายเป็นพรรคการเมืองของข้าราชการขนาดใหญ่ และอันตรายกว่าคำว่า สภาผัวเมีย อย่างที่เคยว่ากันไว้แน่ เนื่องจากการปฏิบัติงาน จะพัวพัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้ตรวจสอบ กับผู้ถูกตรวจสอบ มาจากแหล่งที่มาเดียวกัน ถามว่าเรื่องนี้ จะผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่ ตนคงไม่ต้องวิจารณ์ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ สปช. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน จะคัดค้าน อีกทั้งคนเขียนรัฐธรรมนูญรอบนี้ เคยออกแบบ หรือลองผิดลองถูกมาหลายครั้งแล้ว ย่อมทราบ และรู้ดีว่า เขียนรัฐธรรมนูญแบบไหน จะเกิดผลแบบใด

** อัดกติกามัดมือฝ่ายค้านไม่กล้ายื่นซักฟอก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากรัฐบาลแพ้ผลโหวต ก็ต้องยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่า เป็นแนวคิดของบางคนที่ต้องการให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลมีความเข้มแข็ง แต่ถูกคัดค้านว่า เป็นกึ่งประธานาธิบดี แนวคิดนี้ก็ตกไป แต่ครั้งนี้ยังมีการสอดแทรกการสร้างรัฐบาลที่คงความเข้มแข็งเข้ามาอีก จึงเป็นเรื่องประหลาด กับความคิดที่สวนทางความเป็นจริง เพราะในการออกกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น กฎหมายการเงิน หรืองบประมาณ หากฝ่ายค้านอภิปราย และโหวตคว่ำร่าง กฎหมายรัฐบาลได้ รัฐบาลต้องลาออก และเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลแทน ตามหลักคิดของระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภาเดิมที่ใช้กันมา
นอกจากนี้ หากมีการอภิปรายไม่ไหว้วางใจรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไปฝ่ายค้าน ก็จะไม่กล้าที่จะโหวตล้มรัฐบาล เพราะรู้ว่าหากรัฐบาลแพ้โหวต ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และอาจจะเป็นการเปิดช่องทางให้รัฐบาลลักไก่ออกกฎหมายสำคัญ เช่น หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาลแล้ว พยายามออกกฎหมายโดยอ้างว่า เป็นกฎหมายสำคัญแนบท้ายนโยบายของรัฐบาล ผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยออกมาล้างผิด ทั้งม.112 การทุจริต คดีอาญา ฝ่ายค้านทำได้เพียงการอภิปรายฯ เท่านั้น แต่ไม่กล้าโหวตคว่ำร่างกฎหมายรัฐ เพราะรู้ว่าต้องไปเลือกตั้งใหม่อีก แนวคิดเช่นนี้ เป็นการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ จึงเป็นหลักคิดที่พิกลพิการ ในรัฐธรรมนูญ
"ผมฟันธงว่า การวางแนวคิดลงรายมาตราในรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการเช่นนี้ เพื่อบีบให้หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ที่หลายพรรคจับมือกันเป็นรัฐบาลผสม ที่มีเสียงข้างมาก และยากต่อการล้มรัฐบาล แม้จะมีพรรคเล็กบางพรรคออกจากการเป็นพรรคร่วมก็จะมีพรรคอื่นเสียบเข้ามาแทน จึงน่าเป็นห่วงเพราะมีหลายอย่างที่สวนทางกับข้อเท็จจริง" นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขัดหลักการของสภานิติบัญญัติโดยสิ้นเชิง การอ้างว่าเพื่อไม่ให้มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำนวนมากอย่างไม่มีเหตุผลสมควร และเพื่อเป็นกลไกปกป้องฝ่ายบริหารนั้น แสดงว่าต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะกลัวจะมีการยุบสภาฯ ใช่หรือไม่ เขียนเหมือนรู้ว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาลชุดหน้า การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ เป็นการมัดมือมัดเท้า ฝ่ายนิติบัญญัติ ผิดหลักเกณฑ์สากลอย่างชัดเจน เอาฝ่ายนิติบัญญัติไปพันกับฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญแบบนี้มีแต่จะสร้างปัญหาในอนาคต

** "พท."จี้ทบทวนอำนาจส.ว. อย่าให้ล้นฟ้า

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกแบบที่มา ส.ว.ครั้งนี้ ทั้ง 200 คน ที่อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมนั้น ไม่ต่างอะไรกับการสรรหาทั้งหมด เพราะไม่มีการยึดโยงกับประชาชนโดยตรง ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องกลับไปทบทวนอำนาจหน้าที่ ส.ว. ที่ให้ไว้ล้นฟ้า ทั้งการเสนอกฎหมายได้ จากเดิมที่มีเพียงหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น หรือแม้แต่การมีอำนาจกำกับดูแลฝ่ายบริหาร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
"การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ควรบัญญัติว่า สมาชิกวุฒิสภาคือ ผู้แทนปวงชนชาวไทย เพราะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง" นายสามารถ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น