xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เผย กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่เคาะรูปแบบ กก.ปรองดอง หวัง สปช.ใช้วิจารณญาณก่อนโหวต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ. ยกร่างฯ เผยความคืบหน้าร่าง รธน. ยังไม่เคาะรูปแบบ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และการสร้างความปรองดอง ที่ต้องสอดคล้อง กก. ยุทธศาสตร์ชาติ หวัง สปช. ใช้วิจารณญาณอ่านร่าง รธน. ก่อนโหวต บอกไม่จำเป็นไม่ปรับแก้เพิ่ม กันกระทบทั้งร่าง ยัน กมธ. ทำอย่างรอบคอบ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ ที่ประชุม กมธ. จะประชุมกัน 3 วัน คือ วันจันทร์ ถึงวันพุธ ซึ่งช่วงนี้ยังพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ที่ค้างอยู่รวมทั้งการปฏิรูปในเรื่องที่คณะทำงาน ส่วนบทเฉพาะกาลก็ทยอยพิจารณาควบคู่กันไป รวมถึงการพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์เช่นกัน ซึ่งขณะนี้พิจารณาไปได้ประมาณ 70 มาตรา และได้กำหนดหลักประกันที่จะทำให้บันทึกเจตนารมณ์มีผลบังคับใช้ คือ จะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า หากมีปัญหาต่อการตีความ หรือการเขียนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายทั่วไป ต้องนำรายละเอียดและยึดถือเจตนารมณ์ไปพิจารณาโดยให้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำไปพิจารณา

ส่วนเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการสร้างความปรองดอง ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะต้องพิจารณาปรับปรุงเนื้อหา แม้ในหลักการจะยึดตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้เป็นหลักแล้วก็ตาม รวมถึงรายละเอียดการทำหน้าที่ หรือโครงสร้างของกรรมการที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบหรือไว้ในกฎหมายฉบับใดนั้นก็ยังไม่มีข้อสรุปเช่นกัน และยังมีประเด็นที่ กมธ. ยกร่างฯ ต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วย คือ กรณีที่ ครม. กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ด้วย ที่ต้องพิจารณาว่าจะเขียนในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีบทกำหนดให้การทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวคนที่ทำหน้าที่ต้องตระหนักถึงปัญหาว่าคืออะไร เพื่อไม่ให้ความขัดแย้ง เหมือนกับช่วงวันที่ 22 พ.ค. 57 กลับมาได้อีก ดังนั้น ทุกคนที่ทำหน้าที่ต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วย เพราะหากไร้ความตระหนักแล้วต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไรคงไม่สามารถทำได้

ส่วนท่าทีของ สปช. ที่มีการหารือและเตรียมถล่มเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า เป็นสิทธิของ สปช. ที่จะดำเนินการ และถือเป็นสิทธิส่วนตัว รวมถึงการจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้ สปช. ใช้วิจารณญาณ อ่านและดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากรับร่างไปแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว กำหนดว่าเมื่อ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ในวันที่ 22 ส.ค. แล้ว สปช. มีเวลา 15 วัน ที่จะอยู่กับเนื้อหาและร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กมธ. พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่า เมื่อ สปช. เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับทางการแล้ว จะใช้ประสบการณ์ ความเป็นผู้ใหญ่พิจารณาในประเด็นสาขาที่ถนัด

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองกระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา เพราะมีเบื้องหลังต้องการต่อรองให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มา ส.ว. นายคำนูณ กล่าวว่า ตนไม่มองเช่นนั้น แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้รับฟังความเห็นของสาธารณะทั่วไป หากความเห็นใดมีความจำเป็น ที่ประชุมอาจนำมาพิจารณาได้ แต่ประเด็นของ ส.ว. นั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอให้พิจารณา ซึ่งหากเป็นมาตราที่ไม่มีผลกระทบในหลายมาตรา ที่เชื่อมโยงในหลายมาตราก็พอจะปรับแก้ได้

“ในทางทฤษฎีก่อนจะถึงวันที่ 22 ส.ค. ร่างรัฐธรรมนูญสามารถปรับแก้ไขได้ แต่ในทางปฏิบัติ กมธ. จะไม่ปรับแก้ในสาระสำคัญที่พิจารณาตกผลึกไปแล้วเว้นในกรณีที่สำคัญจริง ๆ และมีเสียงหรือความเห็นที่ออกมาต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมีโอกาสปรับได้ที่เป็นมาตราที่ไม่กระทบสาระสำคัญของบทบัญญัติก็สามารถทำได้ เราทำงานอย่างโปร่งใส แม้จะไม่มีแถลงข่าวใด ๆ ออกไป แต่การนำเสนอข่าวที่ผ่านมาก็มีความใกล้เคียงกับการพิจารณาของ กมธ.” นายคำนูณ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น