ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เตรียมเชิญ 9 กลุ่มรับฟังเหตุผล ขอแก้อีกไม่ได้ แย้มมี 285 มาตรา “หมอชูชัย” เตรียมชงร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯ พรุ่งนี้ เผยถก กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ กำนดปฏิรูปใน รธน. 5 มาตรา 17 ด้าน 4 กลุ่มใหญ่ คาดร่าง กม.ลูกเสร็จปลายเดือน ยังไร้ข้อสรุปโครงการกก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป เผยทำงานใกล้ชิด สปช.ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของ รธน.ร่วม ไม่กังวลตีกินแบนตลอดชีพนักโกงเมือง ยันไม่ฟันย้อนหลัง
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้พิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญต่อเนื่องหลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ได้พิจารณาไปแล้วกว่า 50 มาตรา ทั้งนี้ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ กรรมาธิการ ได้หารือว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปที่ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาอีกครั้งหรือไม่ และขั้นตอนกฎหมายนี้จะต้องเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกลั่นกรองก่อนออกมาเป็นพระราชบัญญัติด้วย
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 6 ในฐานะประธานอนุ กมธ.ศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปจะต้องเข้าที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯและต่อไปจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง กมธ.ยกร่างฯ และ สนช.ก่อนเสนอต่อ สนช. อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กมธ.ยกร่างฯ วันที่ 23 ก.ค.นี้ ทางอนุ กมธ.ศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป จะได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ หลังจากได้ไปหารือกับ กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ มาแล้ว เพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณาในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ยังค้างการพิจารณา ก่อนที่จะนำไปผลการประชุมไปหารือกับกมธ.ปฏิรูป 18 คณะอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 24 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะได้เชิญ สปช. 8 กลุ่ม และ ครม.ที่เคยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้ารับฟังเหตุผลที่คณะกรรมาธิการได้ปรับแก้ไขร่างแรกจนออกมาเป็นร่างสุดท้ายในวันที่ 17-19 ส.ค.นี้ ซึ่งในการเชิญทั้งเชิญ 9 กลุ่มครั้งนี้ จะไม่สามารถยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะได้ยื่นคำขอต่อกมธ.ยกร่างฯไปแล้วตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
ล่าสุด กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จนเบื้องต้นคาดว่าจะมีทั้งหมด 285 มาตรา พร้อมวางกรอบการทำงานซึ่งในช่วงสุดท้ายก่อนครบกำหนดส่งร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราทั้งฉบับก่อนเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อ สปช.
ต่อมา นพ.ชูชัยเปิดเผยว่า ได้หารือกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ด้านของ สปช.แล้ว และได้ข้อสรุปว่าจะมีการกำหนดเรื่องปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญเพียง 5 มาตรา 17 ด้าน ใน 4 กลุ่มใหญ่ คือ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะนำเสนอ กมธ.ยกร่างฯ ให้พิจารณาและเห็นชอบในช่วงบ่ายในวันที่ 23 ก.ค.นี้ คาดว่าเนื้อหาที่จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะเสร็จในวันที่ 24 ก.ค.นี้ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ก็จะเสร็จในปลายเดือน ก.ค.ก็จะแล้วเสร็จเช่นเดียวกัน
นพ.ชูชัยกล่าวต่อว่า ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูปและรายละเอียดจะกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะการยกร่างจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน ที่สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ เพราะถ้าในสถานการณ์ที่ปกติอาจจะเขียนอย่างหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติก็อาจจะต้องออกแบบโครงสร้างอีกอย่างตรงนี้คือความยากลำบากของการออกแบบเรื่องกลไกที่จะปฏิรูปบ้านเมืองต่อไปในภายภาคหน้า ส่วนในเรื่องกลไกต่างๆ โครงสร้าง จำนวน องค์ประกอบ ที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอาจต้องกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะใช้ในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าสิ้นเดือน ก.ค.นี้จะได้ข้อสรุป
“ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง กมธ.ยกร่างฯ กับ สปช. และทำให้ สปช.เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามการเป็น ส.ส.ที่ตัดสิทธิผู้ที่ถูกถอดถอนจากคดีทุจริตตลอดชีวิตนั้น นพ.ชูชัยกล่าวยืนยันว่า เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ถือเป็นการเอาผิดย้อนหลัก แต่เป็นการสืบเนื่องตามรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์ต่างๆ ก็เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญนั้น และไม่รู้สึกกังวลว่าจะมีการนำเรื่องนี้ไปขยายผลให้ไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น