กมธ.ยกร่างฯ ถกวาระทำเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้ สปช.อ่าน เผยอยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง “บวรศักดิ์” บอกนอนหลับมากขึ้น แต่ไม่ได้สบายใจ หลังเสื้อแดงไม่เห็นด้วย ด้าน “คำนูณ” ยันคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ไม่มีอะไรซ้อนเร้น แค่มีกลไกพิเศษขับเคลื่อน มีอำนาจพิเศษ ให้ระงับวิกฤตที่กลไกปกติทำไม่ได้ใน 5 ปีแรก โดยให้นายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา อยู่ในกลไกด้วย พร้อมชี้แจงทุกครัวเรือน
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีกรรมาธิการยกร่างฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ การประชุมมีวาระเพื่อทำเจตนามรณ์ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในส่วนของบันทึกเจตนารมณ์รายมาตรา ซึ่งทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้จัดทำฉบับสมบูรณ์ขึ้นมา เพื่อให้สมาชิกสปช.ได้อ่านประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้ง 285 มาตรา เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากกการอ่านตัวบทบัญญัติเพียงอย่างเดียว ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะนำส่งให้สมาชิก สปช.ในภายหลัง เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องขณะที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยนัดประชุมเพื่อรับรองผลการประชุมเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในระหว่างเดินเข้าห้องประชุม ผู้สื่อข่าวได้ถามนนายบวรศักดิ์ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ว่าสบายใจขึ้นหรือไม่เมื่อส่งร่วมรัฐธรรมนูญให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายบวรศักดิ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว รู้สึกนอนหลับมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้สบายใจเพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม นปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ นี้ ซึ่งถือเป็นสิทธิทุกฝ่ายที่แสดงความเห็น”
ดก้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึงการกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า ประเด็นนี้ กมธ.กรรมาธิการฯพิจารณากันอย่างหนัก เมื่อมีบทสรุปออกมาในแต่ละขั้นตอนก็แถลงอย่างเปิดเผย ไม่ได้ซ่อนเร้นอะไรเลย เพียงแต่มีพัฒนาการของบทบัญญัติว่าด้วยรูปแบบของกลไกพิเศษตลอดจนอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์กับรัฐบาลปกติมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งลงตัวเมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งมอบงาน
นายคำนูณระบุอีกว่า จุดแตกต่างสำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงคือการมี “กลไกพิเศษ” เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง รวมทั้งมี “อำนาจพิเศษ” ให้สามารถดำเนินการระงับ ยับยั้ง วิกฤตระดับที่กลไกปกติทำไม่ได้แล้ว ในเฉพาะระยะเวลา 5 ปีแรก คู่ขนานไปกับรัฐบาลปกติ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เข้ามาร่วมนั่งอยู่ในกลไกนี้ด้วย ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯตระหนักดีว่าจะต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยและต่อต้านคัดค้าน แต่เราเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดคำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการลงประชามติในช่วงต้นปี 2559 เราจะชี้แจงกับประชาชนในทุกประเด็น ไม่ซ่อนเร้น ทุกครัวเรือนจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอรรถาธิบาย