xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเวลาสนช.ทำกฎหมายลูก90วัน เลือกตั้งก.ย.59คสช.ยาว60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29 ก.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯ โดยพิจารณาในเรื่องเจตนารมณ์เป็นรายมาตรา ของร่างรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯได้มีความเห็นร่วมกัน ในการจะแก้ไขระยะเวลาในการดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ สนช.ได้รับร่ากฎหมายจาก คณะกมธ.ยกร่างฯ เปลี่ยนเป็น 90 วัน เนื่องจากเกรงว่า ระยะเวลา 60 วัน ที่กำหนดไว้เดิม อาจจะไม่เพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งเดิมที่กำหนดว่า จะดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการกำหนดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องขยายวันเพิ่มเติมออกไป เพื่อพิจารณากฎหมายให้เกิดความรอบคอบ
ขณะเดียวกัน คณะกมธ.ยกร่างฯ ยังคงเห็นร่วมกันว่าควรให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 90 วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว.ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.59 และจะมีรัฐบาลชุดใหม่ประมาณต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะปฏิบัติหน้าที่ไป และยังมีอำนาจโดยสมบูรณ์ทุกประการ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่
สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองนั้น คณะกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง แต่เห็นว่าในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านของประเทศ ควรกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีอายุการทำงานประมาณ 4 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดกรอบการทำงานของการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยในสัปดาห์หน้า วันที่ 5 ส.ค. จะนัดประชุม คณะกมธ.ยกร่างฯ เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 11 ส.ค. จากนั้นวันที่ 13-14 ส.ค. จะทบทวนเนื้อหาและการเชื่อมโยงของแต่ละมาตราทั้งหมดให้มีความสอดคล้องกัน
ส่วนวันที่ 17-19 ส.ค. คณะกมธ.ยกร่างฯ ได้เชิญตัวแทนของผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 กลุ่ม มารับฟังเหตุผลในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 9 กลุ่ม จะไม่มีสิทธิขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีก ไม่ว่าจะเป็นที่มานายกรัฐมนตรี การได้มาซึ่งส.ส.และส.ว. โดยคาดว่า คณะกมธ.ยกร่างฯ จะสามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้พิจารณาในวัน 21 ส.ค.ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น