xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ยืดเวลา 90 วัน คาดชง รธน.ฉบับสมบูรณ์ 21 ส.ค. มีรัฐบาลใหม่ต้นปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นร่วมกันยืดเวลายกร่างฯ เป็น 90 วัน จากเดิม 60 วัน เพื่อพิจารณากฎหมายรอบคอบ คาดเลือกตั้งได้ ก.ย. 59 ต้นปี 60 มีรัฐบาลใหม่ ครม.-คสช.คงอำนาจจนมีรัฐบาลใหม่ ยังไม่มีข้อสรุปสัดส่วน กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ แนะควรมีอายุ 4 ปี วางกรอบทำงานถกรายมาตราให้เสร็จพร้อมทบทวน 17-19 ส.ค.เชิญผู้ยื่นแก้ รธน.มาฟังเหตุผล คาดชงร่างฉบับสมบูรณ์ สปช. 21 ส.ค.

วันนี้ (29 ก.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เป็นประธานการประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ โดยพิจารณาในเรื่องเจตนารมณ์เป็นรายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล โดยที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีความเห็นร่วมกันในการจะแก้ไขระยะเวลาในการดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ สนช.ได้รับร่างกฎหมายจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ เปลี่ยนเป็น 90 วัน เนื่องจากเกรงว่าระยะเวลา 60 วันที่กำหนดไว้เดิมอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งเดิมที่กำหนดว่าจะดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการกำหนดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องขยายวันเพิ่มเติมออกไป เพื่อพิจารณากฎหมายให้เกิดความรอบคอบ

ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังคงเห็นร่วมกันว่า ควรให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 90 วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว.ภายใน 150 วันนับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ คาดว่าการเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. 2559 และจะมีรัฐบาลชุดใหม่ประมาณต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปฏิบัติหน้าที่ไปและยังมีอำนาจโดยสมบูรณ์ทุกประการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนั้น คณะกมธ.ยกร่างฯยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง แต่เห็นว่าในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านของประเทศควรกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีอายุการทำงานประมาณ 4 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดกรอบการทำงานของการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยในสัปดาห์หน้าวันที่ 5 ส.ค.จะนัดประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 ส.ค. จากนั้นวันที่ 13-14 ส.ค.จะทบทวนเนื้อหาและการเชื่อมโยงของแต่ละมาตราทั้งหมดให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนวันที่ 17-19 ส.ค.คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้เชิญตัวแทนของผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 กลุ่มมารับฟังเหตุผลในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 9 กลุ่มจะไม่มีสิทธิขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีกไม่ว่าจะเป็นที่มานายกรัฐมนตรี การได้มาซึ่ง ส.ส.และ ส.ว. โดยคาดว่าคณะ กมธ.ยกร่างฯจะสามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้พิจารณาในวัน 21 ส.ค.ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น