xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ถกปมร้อน 10-11 ส.ค. “คำนูณ” แนะอย่ารื้อ “เจษฎ์” ค้านยืดเวลาปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” เผย กมธ.ยกร่างฯ นำประเด็นร้อนถกทบทวน 10-11 ส.ค. รวมถึงปมปรับภาษีบาป รับยังไม่ได้คุยข้อเสนอให้แก้เป็น ส.ว.สรรหาหมด ดักถึงขั้นนี้ไม่ควรรื้อใหม่ หวั่นไม่ทันการ “หมอเจษฎ์” ค้าน ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ย้อนปฏิรูปตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว ยืดต่อสื่อให้เห็นที่ผ่านมาไร้ประสิทธิภาพ แนะจับตาส่งไม้ต่อองค์กรที่ตั้งขึ้น

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาปรับแก้ไขบันทึกเจตนารมณ์เป็นรายมาตรา โดยวันนี้เป็นการพิจารณาในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นที่ค้างการพิจารณาและประเด็นที่สังคมเรียกร้องให้ทบทวนและปรับ แก้ไขนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะนำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งในวันที่ 10-11 ส.ค.นี้ ซึ่งประเด็นการจัดเก็บค่าบำรุงพิเศษเข้าองค์กรนั้นจากการหารือเบื้องต้นของ กมธ.ยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการนั้น เห็นตรงกันว่าประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการทบทวน เพราะจากการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากทางหน่วยงานภาษีต่างๆ รวมทั้งตัวบทกฎหมายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การเก็บค่าบำรุงองค์การทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้เป็นการหักจากภาษีก่อนเข้าคลัง แต่เป็นการเก็บเพิ่มจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและยาสูบ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ส่วนผลการพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ตนยังไม่สามารถระบุได้เนื่องจากต้องรอดูผลการทบทวนก่อน

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีการเรียกร้องให้เป็น ส.ว.แบบสรรหาทั้งหมดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเลย เนื่องจากประเด็นนี้มีหลากหลายความคิดเห็นที่เสนอเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนตัวมองว่าเมื่อเดินมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่ควรรื้อแบบชนิดพลิกกลับทั้งหมด โดยโครงสร้างประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้นน่าจะยังคงหลักการเดิมไว้ ส่วนรูปแบบของคณะกรรมการสรรหาน่าจะมีการนำมาพิจารณาให้เกิดความเหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่มติของ กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะพิจารณาเช่นไร เพราะตราบใดที่ยังไม่ถึงวันที่ 22 ส.ค.นี้ ในทางทฤษฎีสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากปรับเปลี่ยนมากก็อาจไม่ทันการณ์ได้เพราะจะต้องไปกระทบกับมาตราอื่นๆ อีกมากมาย

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอให้มีการปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งว่า ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 แล้ว ถือเป็นการปฏิรูปปัญหาประเทศในปัจจุบันพร้อมๆ กับการวางแนวทางในอนาคต หากมีการยืดเวลาปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพจริง และจะเกิดความไม่ชอบธรรมในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือการส่งไม้ต่อการปฏิรูปผ่านสภาขับเคลื่อน ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดองในระยะยาวมากกว่าว่าจะมีกลไกในการทำหน้าที่สานต่อสิ่งที่ต้องการปฏิรูปมาตั้งแต่ต้นให้มีประสิทธิภาพอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น