xs
xsm
sm
md
lg

คปก.ชง “บิ๊กตู่” ค้านตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” คดีนักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปก.ทำข้อเสนอแนะ นายกฯ-สนช.-สปช. ค้านตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้ขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุล แถมมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอปรับปรุงกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.แทน เน้นให้เป็นกลางและเป็นอิสระ

วันนี้ (25 พ.ค.) มีรายงานว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดย คปก.มีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มี “ผู้ไต่สวนอิสระ” เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากในปัจจุบันมี “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ทำหน้าที่ตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับอยู่แล้ว หากมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาจะทำให้การตั้งผู้ไต่สวนอิสระ มีอำนาจหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นอกจากนี้ จากบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 ที่กำหนดให้มีผู้ไต่สวนอิสระนั้น คปก.มีความเห็นว่า แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อการเพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ที่มาของผู้ไต่สวนอิสระมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา หากผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการไต่สวนและยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ศาลฎีกาจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีนั้นเอง ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ไต่สวนคดีเป็นผู้พิจารณาคดีนั้นเสียเอง ย่อมเป็นการขัดกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุล กล่าวคือ องค์กรศาลฎีกาจะเป็นผู้ใช้ทั้งอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการในคราวเดียวกัน

คปก.จึงมีความเห็นว่า หากมีการปรับปรุงกระบวนการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นอิสระแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีผู้ไต่สวนอิสระอีก

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญวาระพิจารณาทบทวนบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และบันทึกเจตนารมณ์ ในส่วนที่ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีประเด็นพิจารณาสำคัญ คือ มาตรา 257 เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำความจากมาตรา 275 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาพิจารณา

มีสาระสำคัญ คือ ในกรณีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ดำเนินการไต่สวน ไต่สวนล่าช้า หรือไต่สวนแล้ว ไม่ดำเนินการชี้มูลความผิดกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ร่ำรวยผิดปกติ, ทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทำความผิด หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ให้สิทธิ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และให้สิทธิผู้เสียหายจากการกระทำของบุคคลดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาลฏีกา เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” ที่มีคุณสมบัติเป็นกลางทางการเมือง และซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงการกระทำของบุคคลดังกล่าว

และหาก “ผู้ไต่สวนอิสระ” พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล ให้ดำเนินการส่งรายงานพร้อมเอกสาร และความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการถอดถอน พร้อมกับยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยเหตุผลสำคัญเพื่อให้มีผู้ไต่สวนอิสระเข้ามาทำหน้าที่กรณีที่ ป.ป.ช.ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่ ป.ป.ช.ชุดที่ 2 ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลและมีตำรวจเป็นประธาน ทำให้เรื่องที่ร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนหลายเรื่องเงียบหาย ซึ่งความสำคัญของผู้ไต่สวนอิสระไม่ใช่ให้เข้ามาทำหน้าที่แทน ป.ป.ช.


กำลังโหลดความคิดเห็น