สปช. “ศิษย์เอกพุทธะอิสระ” ขู่พวกจ้องคว่ำ รธน. ระวังถูกฟ้องค่าเสียหาย แนะตั้งสติก่อน เชื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ใช้งานพวกทำงานล้มเหลว เผย มี สปช. จังหวัด ยอมรับถูกทาบให้ลงชื่อคว่ำจริง “ไพบูลย์” แจงปมคำถามประชามติ ทำหลัง สปช. ลงมติรับไม่ร่าง รธน. วันเดียว “เจษฎ์” ค้านยืดเวลาปฏิรูปอีก 2 ปี
วันนี้ (6 ส.ค.) นายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม “ศิษย์เอกของหลวงปู่พุทธะอิสระ” ออกมาย้ำอีกครั้ง โดยยืนยันว่า กระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สมาชิก สปช. ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับการเข้าดำรงตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องจริง และล่าสุด ก็มี สปช. จังหวัดคนหนึ่งออกมายืนยันกับเพื่อน ๆ สปช. ด้วยกันแล้วว่าถูกทาบทามให้ร่วมลงชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่ได้ปฏิเสธไปแล้ว ดังนั้น ตนจึงอยากจะเตือนถึงคนที่เป็นแกนนำในการล่ารายชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเหตุผล ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นร่างฉบับสมบูรณ์ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ในวันที่ 22 ส.ค. นี้ เพื่อหวังว่าจะสร้างผลงานเพื่อให้ตัวเองได้ไปต่อในตำแหน่งต่าง ๆ ในอนาคตนั้น ขอให้คิดดี ๆ
“ผมอยากเตือนว่าในเมื่อวันนี้พวกคุณเป็นเหมือนคนสร้างบ้าน แล้วบ้านยังไม่เสร็จ สร้างไม่สำเร็จ แล้วยังคิดที่จะเสนอหน้ามาสร้างบ้านหลังใหม่อีกหรือ พวกคุณไม่มีสิทธิที่จะไปสร้างบ้านหลังต่อไป เพราะผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ให้ตำแหน่งอะไรแล้ว เพราะทำงานล้มเหลว ดังนั้น อยากให้ตั้งสติแล้วหันมาร่วมมือกันสร้างบ้านให้เสร็จ ถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี มีอะไรที่เสียหายก็ควรไปคุยกับ กมธ. ยกร่างฯ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ไม่ใช่มาติอย่างเดียว แล้วไม่ช่วยแก้ไขและผมคิดว่าถ้าพวกคุณยังเดินหน้าล่ารายชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็น่าจะมีคนออกมาเรียกร้องค่าเสียหายกับพวกคุณแน่นอน” นายสิระ กล่าว
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกำหนดการพิจารณาการตั้งประเด็นคำถามของ สปช. ว่า ตามบัญญัติ มาตรา 37 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระบุไว้ว่า การเสนอประเด็นคำถามของ สปช. เพื่อนำไปทำประชามตินั้น ให้กระทำภายในวันเดียวกันกับวันที่ สปช. มีมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
การที่มี สปช. บางคนออกมาให้ข่าว ว่า สปช. จะมีการหาข้อสรุปร่วมกันก่อนว่า จะเห็นควรให้มีการตั้งคำถามหรือไม่ก่อนในช่วงวันที่ 17 - 21 สิงหาคมนี้ อาจจะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในความเห็นของตน ถ้าพูดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกระบวนการทุกอย่างของการตั้งประเด็นคำถาม เพื่อไปทำประชามติควรทำในวันเดียว นั่นคือ ในวันที่ 7 กันยายนนี้ หรือภายหลังจากที่ สปช. ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งนี้ ถ้ามติออกมาไม่เห็นด้วยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านญัตติขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ก่อนจัดการเลือกตั้งก็ต้องตกไป แต่ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านญัตติของตนก็จะเป็น 1 ประเด็นให้สมาชิกตัดสินใจร่วมกับญัตติอื่น หากมีสมาชิก สปช. เสนอเพิ่มเติมเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ญัตติที่ตนกับเพื่อนสมาชิกได้เสนอนั้นไม่ได้มีเจตนาชี้นำสังคมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมาใช้สิทธิเพื่อตัดสินใจร่วมกันเท่านั้น และหากญัตติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ตนก็จะมีเพียง 1 เสียงเท่านั้น เพื่อไปร่วมลงประชามติกับประชาชนทั้งประเทศ
ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 22 คน ที่จะเสนอคำถามให้มีการปฏิรูปประเทศต่ออีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง พ่วงเข้าไปในประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของสมาชิก สปช. ที่ให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี เพราะการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นตั้งแต่วันยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ถือเป็นการปฏิรูปปัญหาประเทศในปัจจุบันพร้อม ๆ กับการวางแนวทางในอนาคต ทั้งปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หากมีการยืดเวลาปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จะสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพจริง และจะเกิดความไม่ชอบธรรมในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ การส่งไม้ต่อการปฏิรูปผ่านสภาขับเคลื่อน ไปยังกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศในระยะยาวมากกว่า ว่า จะมีกลไกในการทำหน้าที่สานต่อสิ่งที่ต้องการปฏิรูปมาตั้งแต่ต้นให้มีประสิทธิภาพอย่างไร เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ต่อ
ส่วนกรอบเวลาในการร่างกฎหมายลูกของ กมธ. ยกร่างฯ หลังร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แม้จะไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน แต่ก็จะใช้เวลาร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาไม่เกิน 6 เดือน หรือน้อยกว่านั้น เพราะปัจจุบันมีการร่างกฎหมายลูกสำคัญควบคู่อยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่า ไม่มีทางที่รัฐบาล และ คสช. จะใช้ช่องว่างตรงนี้เพื่อยืดอำนาจออกไป และเชื่อว่า การส่งต่อการปฏิรูปให้สภาขับเคลื่อนฯ จะไม่เป็นปัญหา เพราะสภาขับเคลื่อนไม่ได้มีหน้าที่ต่างจาก สปช. และมีเวลาเพียงพอที่จะทำหน้าที่ปฏิรูปก่อนส่งให้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเลือกตั้ง ส.ส. จะเกิดขึ้นภายในปี 2560 หากนับตามกรอบเวลาตามความจริง เพราะยังต้องให้เวลาศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หากต้องแก้ไขหลังทำประชามติ รวมถึงการให้เวลาพิจารณากฎหมายลูกด้วย