ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มชัดเจนขึ้นมาเรื่อย ๆ สำหรับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ล่าสุดกล่าวแสดงความเห็นในทำนองว่า “เป็นไปได้” ที่เขาจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อสานต่อภารกิจปฏิรูปต่อไปอีกอย่างน้อยอีก 1 - 2 ปี ซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตาม “โรดแมป” ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าทุกประการ
ทั้งนี้ โรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงก็คือ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ที่เพิ่มเติมเรื่องการ “ลงประชามติ” และปรับแก้เรื่อง “คุณสมบัติต้องห้าม” ไปแล้ว
คำพูดของ นายกรัฐมนตรี และหัวหนัาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯชุดปัจจุบัน ที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ผ่านการโหวตของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็จะต้องมีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯขึ้นมาใหม่ รวมทั้งต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งกระบวนการรวมทั้งขั้นตอนต่าง ๆ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปี
“ถ้าบอกว่ารัฐบาลผมไม่ดีคงไม่เหลือใครดีแล้ว เพราะผมพยายามเลือกคนดี คนมีคุณธรรม เข้ามาทำงานให้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นว่าการทำหน้าที่ดี ๆ ทำอย่างไร ผมให้โอกาสกับทุกคน ไม่ได้ไปรังเกียจใคร ฝ่ายการเมืองผมก็จำเป็น เพราะผมเข้ามาอย่างนี้ ถ้าผมจะเอาฝ่ายการเมืองเก่า ๆ มาทำงานกับผมมันก็คงไปกันไม่ได้ หลายคนก็เลยยังไม่เข้าใจ ออกมาว่าทุกวัน เพราะเขามีอำนาจอยู่แล้ว ผมไปเอาอำนาจเขามา แต่ยืนยันว่า เอามาทำในสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็น ทั้งเรื่องการลงทุนทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงโครงสร้าง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 - 2 ปี ซึ่งถึงเวลานั้นผมคงไม่อยู่แล้ว ก็ต้องให้รัฐบาลใหม่มาทำ ซึ่งถ้าเขาไม่ทำก็ล้มเหลวอีก แล้ววันหน้าก็กลับมาด่าผม ว่าผมไม่ได้ทำอะไรทั้ง ๆ ที่ผมเริ่มให้แล้ว ทุกอย่างก็จะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญว่าจะทำอะไรกันต่อไป
“ส่วนรัฐธรรมนูญ อย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก เพราะการที่ตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นของคน และหาข้อสรุปออกมา ถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็ไปทำประชามติแล้วก็ไปเลือกตั้ง ตนไม่มีหน้าที่ที่จะไปสั่งให้ผ่านหรือไม่ผ่าน”
“รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เท่านั้นเอง และถ้าต้องอยู่ต่อก็เป็น เพราะด้วยความจำเป็น ไม่เช่นนั้นใครจะเข้ามาเป็น ผมก็อยากทำหน้าที่ให้มันเสร็จ และให้เริ่มต้นด้วยดี ให้มีอนาคต ทุกคนเห็นร่วมกัน แต่ก็ยอมรับว่าจะให้คนทั้ง 70 ล้านคนเห็นพ้องต้องกันเป็นเรื่องยาก”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ออกมาตอกย้ำให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่างกันใหม่ และตัวเขาก็ยังมีความจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพื่อทำภารกิจสำคัญที่เขาเรียกว่าการวางโครงสร้างประเทศ หรือการวางรากฐานประเทศในในระยะเวลาให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
คำพูดที่แสดงท่าทีดังกล่าวของ เขามีขึ้นไล่หลังจากที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแบบไม่กำหนดระยะเวลา ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาโวยวายทันทีว่านี่คือ แผน “ต่ออายุ” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ บิ๊ก คสช. บางคนที่คุ้นเคยกันมานาน
ขณะเดียวกัน ก็บังเอิญว่าเริ่มได้เห็นความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติบางส่วนที่เสนอให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯใหม่ ตั้งสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปฯ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดเอาไว้ และก็บังเอิญเช่นเดียวกันว่าก่อนหน้านี้บรรดาระดับบิ๊กของ คสช. ต่างก็เรียงหน้ากันออกมายืนยันว่าทุกอย่างต้องเดินไปตามโรดแมป แต่สำหรับฝ่ายตรงข้าม เช่น ฝ่ายเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร และชาวบ้านที่เริ่มเห็น “ความผิดปกติ” ต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือ “แผนสมประโยชน์” หรือเปล่า
แม้ว่านาทีนี้ยังอาจไม่ชัดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าในที่สุดแล้วจะมีการ “ต่ออายุ” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือไม่ แต่ก็ “สะกิด” ให้สังคมเห็นว่านี่คือวิธีที่เรียกว่าเป็นหนึ่งใน “โรดแมป” เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจดู “ซ่อนเงื่อน” หมกเม็ดไปบ้างเท่านั้น แต่ทุกอย่างก็ขึ้นกับศรัทธาที่ประชาชนมีให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นเอง รวมทั้งผลงานที่ผ่านมามันน่าประทับใจหรือไม่ เรื่องแบบนี้จะเป็นคำตอบมากกว่ากฎหมายที่คนเป็นผู้ร่างขึ้นมา !!