หัวหน้าทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ชี้ปฏิรูปต้องนำเสนอประเด็นให้ชัดก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคนำไปเป็นนโยบายหาเสียง บอกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมาก ไม่เชื่อปลอดซื้อเสียง ชี้ต้องออกแบบไม่ให้คนใช้เงินซื้อมีผลต่อโครงสร้างประเทศ แต่ยอมรับพอรับได้ หนุนปฏิรูปเรื่องที่ดิน โฉนดชุมชน ป่า ก่อนแฉ สปช.บางคนหาเสียงเหมือนเตรียมลง ส.ว. แนะปรับปรุงสภาขับเคลื่อนฯ ให้เหมาะสม
วันนี้ (5 ส.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้แม้จะผ่านประชามติไป แต่ก็คงไม่ทำให้การปฏิรูปมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะการปฏิรูปนั้นต้องเดินควบคู่กันไประหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้ทำหน้าที่ปฏิรูป และจะต้องมีการนำเสนอประเด็นปฏิรูปให้ชัดเจนก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ แล้วหลังจากนั้นพรรคการเมืองต่างๆก็สามารถหยิบประเด็นปฏิรูปต่างๆ นำไปเป็นนโยบายของพรรคที่สามารถจับต้องได้ และจะได้นำเสนอเป็นสัญญาประชาคมว่าถ้าพรรคนั้นเป็นรัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปต่อไป เรื่องนี้ตนคิดว่าไม่น่าจะยากเกินไปที่จะทำ และไม่ต้องไปขยายโรดแมปแต่อย่างใด
เมื่อถามต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าหากมีการประกาศใช้ออกมาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากหรือไม่ นายวิรัตน์ตอบว่า ไม่มากเลย พร้อมกับยกตัวอย่างในเรื่องของการเลือกตั้งในระบบเยอรมันที่มีการอ้างว่าสามารถลดการซื้อเสียงได้ว่า ตนไม่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะสามารถจะห้ามไม่ให้มีการซื้อเสียงได้ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนซื้อและคนขาย ในเมื่อห้ามไม่ได้แล้วกระบวนการที่ควรทำต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้กระบวนการเลือกตั้งที่ได้มาด้วยเงินนั้นเข้าไปคุมอำนาจรัฐได้ อำนาจรัฐนั้นจะต้องเข้ามาโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม มิฉะนั้นบ้านเมืองก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม ดังนั้น การออกกแบบรัฐธรรมนูญควรจะมองประเทศไทยตามความเป็นจริงว่าประเทศไทยนั้นคนสามารถถูกซื้อได้ คนซื้อก็มีคนขายก็มี ดังนั้นจึงต้องหาว่าจะออกแบบอย่างไรไม่ให้คนที่ใช้เงินซื้อเข้ามาไปมีผลต่อโครงสร้างและการขับเคลื่อนประเทศไทย
หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อถึงภาพรวมการปรับแก้ของรัฐธรรมนูญว่า ตอนนี้มีความเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ มีการแก้ไขในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ อาทิ มาตรา 181-182 กลุ่มการเมืองก็มีการเอาออกไปแล้ว ดังนั้นตนคิดร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ แต่จะให้การมีร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วเห็นภาพการปฏิรูปออกมาเป็นรูปธรรมเลยนั้น คิดว่าจะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ อาทิ เรื่องประเด็นการปฏิรูปตำรวจจะต้องทำอย่างไร จะแยกสอบสวนหรือไม่ เป็นต้น สำหรับตนนั้นเรื่องที่คิดว่าน่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้นั้นก็น่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปที่ดินทำกิน โฉนดชุมชน ปัญหาป่ารุกคน เรื่องเหล่านี้น่าจะมีความชัดเจน
นายวิรัตน์กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผ่านมา ตนมองว่า สปช.หลายคนนั้นเดินหาเสียงเหมือนต้องการจะต้องการให้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลายคนเข้าไปขึ้นคัตเอาต์ไประดมหาเสียงในพื้นที่เสมือนต้องการให้ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา
“สปช.หลายคนแทนที่จะเข้ามาพัฒนา จะมาปฏิรูป กลายเป็นเข้ามาวางแผนจะมาเป็น ส.ว.ในอนาคต ผมไม่ขอออกชื่อว่าเป็นใครเพราะไม่อยากจะเป็นศัตรูกับใคร แต่โดยรวมก็สามารถไปดูได้ในหลายจังหวัด สปช.ขึ้นรูปใหญ่โตเหมือนกับนักการเมือง เสมือนว่าอยากต้องการให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ว.อีก ภารกิจแบบนี้ไม่ใช่การปฏิรูป ภารกิจแบบนี้เป็นการทำเพื่อตัวเอง” นายวิรัตน์กล่าว และว่าในขณะที่นักการเมืองพรรคหลักอย่างพวกตนนั้นเลือกที่จะไม่เข้าไปเพราะกลัวถูกมองว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงอยากให้ผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาทำงานในส่วนนี้เข้าไปดำเนินการ แต่ท้ายที่สุดแล้วกลุ่มคนที่เข้าไปก็กลายเป็นพวกอยากเป็น ส.ว. ตนไม่ได้ว่า สปช.ทุกคนเพราะรู้ว่ามีหลายคนที่มีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ ดังนั้น ในเรื่องของการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 120 คนหลังจากที่ สปช.สิ้นสุดไปแล้วก็ควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตรงนี้ให้เหมาะสมด้วย