ผ่าประเด็นร้อน
สังเกตหรือไม่ว่า แม้ว่าบรรดาสองพรรคการเมืองใหญ่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าพิจารณาจากความรู้สึกของสังคมที่สัมผัสได้ในตอนนี้กลับ “ไม่มีอารมณ์ร่วม” แต่อย่างใด เพราะหลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พูดต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายว่า “รับไม่ได้” และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยุให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่าหากผ่านไปได้ในอนาคตจะสร้างความขัดแย้งและก่อวิกฤตขึ้นมาใหม่
ในทางตรงกันข้าม ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อพวกนักการเมืองเหล่านี้กลับออกมาในทางลบ กระแสสังคมยังรู้สึกรังเกียจไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย กลายเป็นว่าเหมารวมกันไปเลยไม่ว่านักการเมืองจากฝั่งเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร และการเมืองในฝั่งประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกันก็ได้เห็นท่าทีใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่เริ่มเล่นบท “เข้ม” กว่าเดิม โดยเฉพาะการออกมา “ถล่มนักการเมือง” กันแบบออกตัวแรงๆ ติดๆ กันหลายครั้งต่อเนื่องกัน นั่นคือคำพูดที่ตำหนินักการเมืองที่เอาแต่สร้างปัญหาทิ้งเอาไว้ หรือการทุจริตที่เขาตอบโต้ว่ามีระบบ 60/40 มีการแบ่งปันผลประโยชน์จนทำให้หลายโครงการในอดีตไม่เดินหน้า หลังจากถูกนักการเมืองคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟไทย-จีน นอกจากนี้ขู่ที่จะดำเนินคดีกับนักการเมืองบางคนที่ยังมีคดีติดตัว ซึ่งอย่างหลังน่าจะหมายถึงนักการเมืองในฟากของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไล่ลงมาจนถึงแกนนำพรรคคนอื่นๆ
ต้องยอมรับว่านาทีนี้เมื่อวัดจากความรู้สึกที่สัมผัสได้กระแสสังคมยังไม่ค่อยตอบรับหรือมีอารมณ์ไปกับพวกนักการเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกมาตำหนิเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกชี้ช่องว่าเป็น “เผด็จการ” มีเจตนา “รักษาอำนาจ” ของพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่สิ่งที่สัมผัสได้กลับเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังสามารถรักษาความความนิยมได้อย่างคงเส้นคงวา พิสูจน์จากผลสำรวจหลายสำนักออกมาตรงกันว่า เขายังได้รับความนิยมอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะเริ่มถดถอยลงมาบ้างแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันอาจเป็นเพราะ “บุคลิกส่วนตัว” ของเขาที่มีลักษณะการพูดจาโผงผาง มีการทำงานที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ อาจทำให้ตรงใจคนไทยจำนวนมาก นี่อาจทำให้ความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหาแบบนี้ได้ยาก และที่สำคัญเขามักเน้นในเรื่องการ “ต่อต้านการโกง” และตัวเขาพร้อมทั้งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของเขายังไม่มีเรื่องอื้อฉาวด้านการทุจริตออกมาให้เห็นแบบจังๆ ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่น่าจะทำให้ยังสามารถรักษาระดับความศรัทธาในขั้นสูงเอาไว้ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับนักการเมืองที่มีพฤติกรรมด้านลบจนน่ารังเกียจ
ที่น่าสนใจก็คือระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ได้เริ่มหันมาพุ่งเป้าถล่มกันอย่างจริงจับมากขึ้น เหมือนกับกับตอกย้ำเข้าไปในแผลเน่าๆ ให้สังคมไม่มีวันลืม
วกกลับมาที่กระแสการโจมตีของนักการเมืองทั้งสองขั้วใหญ่ดังกล่าวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าหากไม่ได้พิจารณาจากเนื้อหาว่าดีหรือไม่ดี หรือว่าเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือไม่ก็ตาม แต่หากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไม่ว่าจะในชั้นการโหวตของสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายนนี้ นั่นก็เท่ากับว่ากระบวนการต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือหากคว่ำในขั้นตอนการลงประชามติ นั่นก็ทำให้ทอดเวลาให้เนิ่นนานไปอีก ไม่ได้ต่างกัน ความหมายก็คือไม่ว่าจะออกซ้ายหรือขวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะลอยตัว-กินรวบอยู่ดี เพราะทุกอย่างถือว่าเข้าทาง
ไม่ว่าการทำประชามติ ก็อ้างได้ว่าทำตามข้อเรียกร้อง หากเกิดมีการคว่ำขึ้นมาก็ต้องทำตามขั้นตอนนั่นคือยกร่างใหม่ที่ต้องใช้เวลา อ้างว่า “ผมไม่อยากอยู่ แต่ก็ต้องอยู่” หรือคำว่า “ผมเหนื่อย อยากแยู่บ้านเงียบๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรสักบาท” บางมุมมันก็เหมือนจิตวิทยาขั้นสูง ที่อาจ “อยากแบบไม่อยาก” หรือเปล่า ลึกซึ้งเหมือนกันนะ!!