xs
xsm
sm
md
lg

โครงการใหญ่เทกระจาดประมูลกว่า 1 ล้านล้าน ITD ยันร่วมชิงดำ-แนะซอยสัญญาสร้างรถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมกะโปรเจกต์ทะลักช่วงปลายปี “อิตัลไทย” ตั้งท่าลุยประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ไฮสปีดเทรน มอเตอร์เวย์ เผยนับจากนี้ไปถึงสิ้นปี 58 ต่อเนื่องปี 59 จะมีการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่มูลค่าถึงล้านล้านบาท ยืนยันร่วมประมูลทุกโครงการ แนะซอยก่อสร้างรถไฟไทย-จีนอย่างน้อย 10 สัญญา และไม่เห็นด้วย “รฟม.” ปรับแบบรถไฟฟ้าสีเขียวเหนือ กระทบแผนก่อสร้างล่าช้าอีก 1 ปี เหตุต้องรอผล EIA ยันเรียกเคลมค่าใช้จ่ายเพิ่มจากความล่าช้าแน่นอน

นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโครงการของกระทรวงคมนาคมที่จะทยอยประกวดราคาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นี้ไปจนถึงปี 2559 ทุกโครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดประมูล 6 เส้นทาง มูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นงานที่บริษัทฯ มีความพร้อมและถนัดมาก รวมไปถึงโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด) วงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง กว่า 1.6 แสนล้านบาท ได้แก่ พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 5.56 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยื่นประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งทยอยออกมาภายในปี 2558 ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.1 กม. วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 5.67 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 5.47 หมื่นล้านบาท โครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง วงเงินรวมกว่า 2.33 แสนล้านบาท โดยจะทยอยประมูลตั้งแต่ปลายปี 2558 ต่อเนื่องไปถึงปี 2559 ซึ่งนอกจากจะเข้าร่วมประมูลแน่นอน บริษัทฯ จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ชนะการประมูล

นายเปรมชัยกล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนยังค่อนข้างกังวลในเรื่องระยะเวลาก่อสร้างที่ภาครัฐกำหนดไว้ที่ 3 ปีนั้นสั้นเกินไปสำหรับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าลงทุนสูงถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งหากคิดตามเนื้องานก่อสร้างงานโยธาจะมีประมาณ 30% หรือเป็นเงินกว่าแสนล้านบาทนั้น ขณะที่ผู้รับเหมาไทยที่เป็นรายใหญ่สามารถรับงานมูลค่าระดับหมื่นล้านบาทได้มีประมาณ 5-6 บริษัทเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นผู้รับเหมาระดับงานมูลค่าหลักพันล้านบาท ดังนั้น จำเป็นต้องแบ่งงานก่อสร้างออกเป็นหลายสัญญา ประมาณ 10 สัญญา เพื่อกระจายมูลค่างานในแต่ละสัญญาให้อยู่ในระดับหมื่นล้านบาท เพื่อความเหมาะสมที่จะเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จภายใน 2-3 ปีได้

**ปรับแบบรถไฟฟ้าสีเขียวต้องศึกษา EIA ใหม่ ทำก่อสร้างล่าช้า 1 ปี

ส่วนกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งจะต้องมีการปรับลดค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ของบริษัทลงจากวงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาทนั้น นายเปรมชัยกล่าว่า เคยชี้แจงกับ รฟม.ไปแล้วว่า การปรับแบบโดยไม่ทุบสะพานรัชโยธินจะมีปัญหา เพราะจะทำให้งานก่อสร้างล่าช้าออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากจะต้องทำการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนและใช้เวลาประมาณ 1 ปี แม้บริษัทฯ จะสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างในส่วนอื่นได้ก่อน แต่ในจุดที่มีการปรับแบบจะยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะผ่าน EIA นอกจากนี้ ข้อกังวลกรณีทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธินจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัดเป็นเวลาถึง 3 ปีนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากในการก่อสร้างตรงบริเวณสี่แยกดังกล่าวประมาณ 8 เดือน-12 เดือนเท่านั้น หากลงฐานรากแล้วจะคืนพื้นผิวจราจร ซึ่งจะไม่กระทบต่อการจราจรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้รับเหมาไม่เห็นด้วยกับการปรับแบบ แต่หาก รฟม.ต้องการปรับแบบบริษัทฯ ต้องทำตามคำสั่ง และหากการก่อสร้างต้องล่าช้าไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯ จะต้องเรียกค่าเคลม ค่าเสียหายจาก รฟม.แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น