xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ นปช.จี้จุดยืน 70 พรรคต่อ “ร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์”- คน พท. ยัน 2 พรรคใหญ่ไม่รับก็จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. คนเสื้อแดง กล่าวผ่านรายการมองไกล ทางเวปไซค์ยูทูป
“แกนนำ นปช.” เรียกร้อง 70 พรรคการเมือง ประกาศจุดยืนต่อ “ร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์” ให้ชัดเจน รับลูกอดีตคนเพื่อไทย ร่างประชามติผ่าน ไม่ลงเลือกตั้ง เตรียมชำแหละแต่ละประเด็นออกสื่อออนไลน์ ส่วน “คนเพื่อไทย” อ้าง 2 พรรคใหญ่ไม่เอาด้วย ล้มแน่

วันนี้ (25 ส.ค.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. คนเสื้อแดง กล่าวผ่านรายการมองไกล ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ หลังจาก นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจะไม่ขอลงเลือกตั้ง ว่า ชื่นชม นายพิชัย ที่เป็นคนไม่กระหายอำนาจ หากทุกคนประกาศที่จะรักษาสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ยึดถือกิเลสตัวเองเชื่อว่าจะได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น ในวันนี้อย่าเพิ่งพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ต้องพูดเรื่องการคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อน เพราะถือว่าเป็นไปตามประชามติ ที่ออกแบบมาว่าจะคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

“ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองทั้ง 70 พรรค ให้ออกมาประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ดีหรือไม่ดี ฉะนั้น การที่ตนเองประกาศคว่ำร่างถือเป็นสิทธิอันชอบธรรม ไม่มีความผิดเพราะประชามติมีให้คว่ำและไม่คว่ำ การประกาศจุดยืนให้ชัดเจนนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง ควรหยุดเล่นละครและแบ่งบทพูด ว่า คนนั้นจะคว่ำหรือไม่คว่ำอย่ากลัวว่าจะเสียเวลา เพราะที่ผ่านมาเสียเวลาเรื่องประชาธิปไตยมาแล้ว 83 ปี”

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง สปช. ลงมติในวันที่ 6 ก.ย. นี้ จะออกมาชำแหละแต่ละประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดทำเป็นหนังสือชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ ถึงเหตุผลที่ประชาชนทุกคนต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคเองยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันถึงท่าทีที่จะออกมา แต่ที่ผ่านมาก็มีการแสดงความเห็นคนในพรรคไว้บ้างแล้ว ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมานี้ มีเนื้อที่สุดโต่งเกินไป ก่อนหน้านี้ เรามองว่ามีแค่เรื่องการได้มาซึ่งส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การกีดกันพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่เนื้อหาล่าสุดมีเรื่องใหม่ที่ใหญ่กว่า คือ การกำหนดให้องค์กรขึ้นมาเหมือนเป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เกิดวิกฤต เนื่องจากคนนอกจะเข้ามามีบทบาทในการบริหาร ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และนำไปสู่วิกฤตขัดแย้งอีกครั้ง สรุปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนชื่อว่าไม่น่าจะผ่านประชามติ เพราะเท่าที่ดู พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็ไม่ใครเอาด้วยสักพรรค

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่ได้ติดตามรัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ เห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างแอบแฝงไว้เยอะ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้ คือ ไม่ไว้ใจประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเลย ไม่ไว้ใจสิ่งที่ประชาชนตัดสิน ที่เห็นได้ชัดคือ การตั้งคปป. ขึ้น สิ่งเป็นสิ่งที่พวกเรารับได้ยากมาก และคงทำให้หลายคนที่จะเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน กระอักกระอ่วนใจพอสมควรที่จะลงเลือกตั้ง สุดท้ายเรื่องนี้จะกลายเป็นวิกฤตขึ้นมาอีกครั้ง

แน่นอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงผ่าน สปช. ได้ แล้วในส่วนการทำประชามติ ก็คงมีการระดมกลไกของรัฐอย่างเต็มที่จนทำให้รัฐธรรมนูญผ่านได้เหมือนประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 เช่นเดียวกันในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองที่รับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คงต้องมีการรณรงค์ชี้แจงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เรารับไม่ได้ ให้ประชาชนทราบอย่างเต็มที่ ส่วนการตัดสินใจลงคะแนน ก็คงเป็นดุลพินิจของประชาชนแต่ละคน เพราะบางคนอาจเห็นว่าเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลนี้ไม่ดี จึงต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็วก็อาจจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ส่วนของพรรคเพื่อไทยจะลงเลือกตั้งหรือไม่ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านด่านต่าง ๆ จนประกาศใช้ ต้องบอกว่าเรายังคงต้องหารือกันอีก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลทำงานยากมาก เราจึงขอให้สิทธิที่จะชี้แจงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประชาชนรับรู้อย่างเต็มที่ก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น