xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” ซัด ครม.หวังสืบอำนาจชัด ชี้รัฐมีอำนาจไฉนไม่รีบจัดการวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะเก็บข้อเสนอ ครม.ขออยู่ยาวจนหลังได้รัฐบาลใหม่เข้าลิ้นชัก ชี้ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านควรปล่อยให้เดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตย แถมกลไกในร่างฯ สามารถป้องกันวิกฤติได้ หากกังวลเรื่องใดก็ควรรีบจัดการ ลั่นชัดเจนเขียนเพื่อหวังสืบทอดอำนาจ เตือน กรธ.ดูให้รอบคอบ ติงยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย



วันนี้่ (21 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 16 ว่า ตนคิดว่าแม้จะเป็นข้อเสนอที่อยู่บนพื้นฐานความปรารถนาดี แต่ กรธ.ก็ควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแค่เริ่มต้นเสนอไปนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็ยอมรับว่ามึน ไม่เข้าใจ และเมื่อได้พบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามถึงเป้าหมายของข้อเสนอดังกล่าว แต่นายวิษณุกลับบอกว่าไม่สามารถยกตัวอย่างปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

“ดังนั้น ผู้เสนอกับผู้รับไม่สามารถลงตัวในข้อเสนอนั้นได้ กรธ.ก็ควรจะเก็บข้อเสนอนี้ใส่ในลิ้นชักดีกว่า เพราะยังไม่ทราบว่าเนื้อหา ขอบเขต และบริบทของข้อเสนอจะมีแค่ไหน” นายองอาจกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายองอาจได้ตั้งข้อสังเกตว่า 1. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและประกาศใช้แล้วก็ควรจะให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าตามครรลองการปกครอง ไม่ควรจะมีการบัญญัติเนื้อหาให้ใช้รัฐธรรมนูญแบ่งเป็นสองช่วง ซึ่งขณะนี้ คสช.และรัฐบาลมีอำนาจค่อนข้างมากอยู่แล้วหากเห็นว่ามีปัญหาอะไรก็ควรจะแก้ไข 2. การที่ ครม.อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตนคิดว่าหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ตามที่ ครม.เป็นห่วงก็ยังมีกลไกต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก ก็สามารถวางกลไกป้องกันสถานการณ์ที่ถึงขั้นวิกฤตได้ รวมทั้งให้อำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว จึงไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้าง 3. การที่ ครม.อ้างว่าหลังจัดการเลือกตั้งจะมีปัญหาต่างๆ เกรงว่าประเทศจะเข้าสู่สภาวะล้มเหลวนั้น ขณะนี้ทั้ง ครม.และ คสช.ก็มีอำนาจอยู่ในมือ แทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว หากวิตกว่าเรื่องใดจะเป็นปัญหาก็ให้เร่งแก้ไขมากกว่าที่จะไปออกรัฐธรรมนูญรูปแบบพิเศษ และ 4. ข้อเสนอจะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ครม.และ คสช.พยายามวางกลไกลเพื่อสืบทอดอำนาจหรืออยู่ยาวในรูปแบบพิเศษต่างๆ ที่วางไกลไกไว้

“แม้แต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังระบุว่ามีการใส่อะไรไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจนไม่ผ่าน สปช. เพราะคงอยากจะอยู่ยาว ฉะนั้นถึงแม้ ครม.จะมีเจตนาดีแต่ข้อเสนอนี้น่าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกิดผลดีต่อใคร ดังนั้นจึงอยากให้ กรธ.ได้พิจารณาอย่างสุขุมรอบคอบ” นายองอาจกล่าว

นายองอาจกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในร่างของ กรธ.จะใกล้เคียงกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้นว่า คณะกรรมการยุทธศาตร์นี้แม้จะลดความเข้มข้นลงในอำนาจหน้าที่ แต่ตนไม่แน่ใจว่าจุดมุ่งหมายของผู้มีอำนาจจะคงเดิมเหมือน คปป.หรือไม่ แต่การที่จะใช้กลไกข้าราชการมากำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ของชาติมีความจำเป็นและเป็นเรื่องปกติ แต่ความผิดปกติคือความพยายามใช้สาระเนื้อหาของยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่ยุทธศาสตร์อื่นที่ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม เช่น การสืบทอดอำนาจหรือการขยายเครือข่ายกำกับควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินจำเป็น เมื่อฝ่ายการเมืองเข้าสู่การเมืองปกติก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอนโยบายสาธารณะต่อสังคม ดังนั้นในการเสนอยุทธศาสตร์ใดๆ หากไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือประเทศ ก็ยากที่จะเกิดการยอมรับ จึงขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรคำนึงว่าต้องเป็นยุทธศาสตร์เพื่อประโยชน์ของประเทศ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ข้อที่ 16 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีเป็นห่วงปัญหาดังก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 จะย้อนกลับอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้ง และภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงเห็นว่าหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรกซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยมีข้อยกเว้นตามความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้นและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก น่าจะแก้ปัญหา และอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้


กำลังโหลดความคิดเห็น