พท.อ้างข้อเสนอ “ครม.ประยุทธ์” ให้แบ่งการบังคับ รธน.เป็น 2 ช่วง หวังลากยาวอำนาจปกครองประเทศ ฝังประชาธิปไตยลงหลุมคอนกรีต เชื่อหากเสียงคัดค้านน้อย “มีชัย” สมยอมแน่ แนะพ่วงประชามติถามประชาชนด้วยว่ายอมให้ คสช.สืบทอดอำนาจหรือไม่
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอที่ 16 ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้แบ่งช่วงบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉพาะกิจ โดยอ้างเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และช่วงใช้รัฐธรรมนูญปกติว่า เดิม กรธ.ทำให้ในลักษณะได้คืบเอาศอกอยู่แล้ว คือให้ คสช.ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จหลังรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ตอนนี้กำลังก้าวไปสู่อีกขั้น คือได้ศอกเอาวา ยังคงให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จกำในมือยาวต่อไปอีก รวมกับความตั้งใจให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เท่ากับคณะผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ กำกับควบคุมการบริหารปกปครองประเทศต่อไปเป็นเวลานานถึง 20 ปี นอกจาก คสช.อยู่ยาวแล้ว องค์กรอิสระต่างๆ หลายองค์กรก็คงจะเป็นผู้ที่ คสช.และรัฐบาล มีส่วนตั้งไว้กว่าจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมาให้ช่วงพิเศษในการเลือกตั้ง รวมถึงการตั้งรัฐบาลก็ไม่เป็นไปตามปกติ มันจะทำให้ประชาชนไม่เหลืออำนาจอะไรเลย จะกลายเป็นวิฤกตอย่างมาก
“ตอนนี้เหมือนกับว่า กรธ.ซึ่งรับงานมาจาก คสช.และรัฐบาล กำลังเอาประชาธิปไตยใส่โลง จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมกับข้อเสนอ ครม.เหมือนกับเอาโลงลงหลุมคอนกรีต ที่เรียกว่าทำให้ไม่สามารถฟื้นคืนมาได้อีกเลย ทางออกที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ขอยืมวิธีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ตั้งคำถามว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านจะให้ คสช.มีอำนาจต่อไปหรือไม่ และถ้าไม่ผ่านประชามติควรจะให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด”
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังวางแผนมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ต่อไปอีก 20 ปี แต่กำลังอ้างว่า โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่าให้มีอำนาจพิเศษอยู่ในช่วงภาวะไม่ปกติ โดยอ้างว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งปกติ ความขัดแย้งก็จะกลับมา ซึ่งเรื่องความขัดแย้งจะกลับมา มันก็เป็นความจริงอยู่เหมือนกัน เพราะว่าตั้งแต่ยึดอำนาจมาจนถึงวันนี้ ยังไม่ทบทวนปัญหาในอดีต และยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอดีต มีแต่การซ้ำเติมปัญหา เช่น คสช.ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดย คสช.เข้าไปเป็นฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่มีความพยามยามที่จะเริ่มต้นกระบวนการปรองดอง และที่สำคัญจะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ และรัฐธรรมนูญนี้ก็แก้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นแน่ๆ เพราะฉะนั้น ทางออกไม่ใช่อำนาจพิเศษไว้ เพราะมีแต่ยิ่งเป็นปัญหา แต่ต้องคลายอำนาจคืนให้ประชาชน แล้วมาทบทวนปัญหาในอดีต
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าทาง กรธ.จะยอมรับข้อเสนอแนะของ ครม.หรือไม่ หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการสืบทอดอำนาจ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีข้อเสนอออกมา เขาต้องการให้ กรธ.ร่างตามมากน้อยแค่ไหน เขาสามารถกระซิบพูดจากันได้อยู่แล้ว เขาคงประเมินสถานการณ์ก่อนให้ กรธ.ร่างออกมาอย่างไร แต่ปัญหาคือ การมีข้อเสนอเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้มีอำนาจว่าต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการยาวนานมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน และถ้าหากว่าสังคมไม่รู้เท่าทันเขาก็จะร่วมมือกันทำให้ข้อเสนอเหล่านี้เป็นผลจริงๆ ได้
“เรื่องการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสองขยัก ที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.บอกยังไม่เข้าใจนั้น ความจริงอาจารย์มีชัยเคยมีประสบการณ์โดยตรงและมีส่วนร่วมโดยตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญสองขยักมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้อาจจะเป็นการไขสือไปก่อน ถ้าไม่มีเสียงคัดค้านมาก เกรงว่าจะเป็นการสมยอมกัน เพราะว่าเป็นเจตนาร่วมกันอยู่แล้ว และเรื่องนี้สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเปิดรับฟังอย่างกว้างขวาง เพียงแต่ว่าเวลานี้ รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริม และยังหาทางสกัดกั้นความเห็นต่าง และยังพยายามทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติให้ได้ต่อไป”