ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต 2 เล่ม มีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา น่าจะทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ เกิดความรู้สึกเสียหน้าไม่น้อย
การยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าว สืบ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายในอำนาจหน้าที่ ในเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้พิจารณาเห็นว่าถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ที่ประเทศเกาหลีใต้ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ปลอดภัย หรือชื่อเสียง และเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสวบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และ (5) กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางแบบบุคคลทั่วไป ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 21(4) และข้อ 23(2) จึงได้ประกาศยกเลิกหนังสือเดินทาง เลขที่ U 957441 และเลขที่ Z530117 ของนายทักษิณ
แม้ว่าการแสดงออกทางฉากหน้า เจ้าตัวจะอ้างว่า ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก โดยวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 นายทักษิณโพสต์ข้อความในอินสตาแกรมว่า ไม่อยากทำให้การยกเลิกพาสปอร์ตเป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โตอะไร และต่อมาไม่กี่วันก็ให้ลูกสาวคนเล็กคือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โพสต์ภาพหนังสือเดินทางมอนเตเนโกรที่นายทักษิณไปเปลี่ยนเล่มใหม่ เพราะเล่มเดิมหมดหน้า ไม่เหลือที่ประทับตราแล้ว เนื่องจากเดินทางไปประเทศต่างๆ บ่อยมาก และอยู่ระหว่างจะเดินทางไปเยอรมนี
แต่พอมาถึงปลายปี 2558 นายทักษิณกลับมอบอำนาจให้นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล กับพวกรวม 2 คน ที่มีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ U957411 และ Z530117ของนายทักษิณ ลงวันที่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ศาลปกครองได้รับคำฟ้องในวันที่ 8 ธันวาคม 2558
คำฟ้องได้ระบุว่า นายทักษิณได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2558 อุทธรณ์คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวไปแล้ว แต่ได้รับเเจ้งผลการพิจารณายืนตามคำสั่งเดิม เป็นเหตุให้นายทักษิณได้รับความเดือดร้อนเสียหายนำมาสู่การฟ้องคดีดังกล่าว
นอกจากนี้ นายทักษิณยังได้ยื่นคำขอให้ศาลปกครองสั่งชะลอการมีผลบังคับใช้ของคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ ซึ่งล่าสุก เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว
ศาลปกครองได้ให้เหตุผลว่า ศาลได้พิจารณาหลักการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาประกอบการให้ข้อเท็จจริงในชั้นการไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 แล้วเห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง 2 ฉบับของผู้ถูกฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด และเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องนำมาใช้ในการพิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางก็เป็นไปตามรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าถ้อยคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณมีเนื้อหาบางส่วนอาจกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย ชื่อเสียง เกียรติภูมิของประเทศ รวมทั้งอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (3) และ (4) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี หรือแก่บริการสาธารณะได้ จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลระงับคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางสองฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
เป็นที่สังเกตว่า การให้ถ้อยคำบางส่วนของนายวัฒนา ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณในชั้นไต่สวนเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ให้เหตุผลถึงการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางสองฉบับดังกล่าวว่า นอกจากจะเห็นว่าการออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากคำสั่งดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้นายทักษิณไม่สามารถใช้หนังสือเดินทางดังกล่าวเดินทางไปยังประเทศใดๆ หรือเดินทางกลับประเทศได้ รวมทั้งไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในต่างประเทศได้ หากรอจนกว่าศาลมีคำพิพากษาจะทำให้เกิดความเสียหายจนไม่อาจเยียวยาแก้ไขให้นายทักษิณกลับสู่สถานะเดิมได้
ซึ่งเป็นคำให้การที่ดูจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะถึงแม้นายทักษิณจะถูกยกเลิกพาสปอร์ตประเทศไทย แต่นายทักษิณก็ยังมีพาสปอร์ตของมอนเตเนโกรที่นายทักษิณถือสัญชาติอยู่ รวมทั้งพาสปอร์ตของนิการากัว ใช้สำหรับเดินทางไปประเ้ทศต่างๆ ได้ และถ้าหากจะเดินทางกลับประเทศไทย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตแต่อย่างใด เนื่องจากนายทักษิณเป็นที่ต้องการตัวของทางการไทยอยู่แล้วในฐานะนักโทษหนีคำพิพากษาและเป็นผู้ต้องหาหนีหมายจับอีกหลายคดี
ดังนั้น การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคืนพาสปอร์ต จึงน่าจะเป็นการรักษาหน้าของตัวเ้องไว้มากกว่า ไม่ใช่เพราะความจำเป็นที่ต้องใช้พาสปอร์ตเล่มที่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด
การที่ศาลปกครองยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ เท่ากับว่านายทักษิณแพ้ยกแรกในการขอคืนพาสปอร์ตไปแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันคนในเครือข่ายของนายทักษิณ อย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็หยิบประเด็นการยกเลิกพาสปอร์ตขึ้นมาเปิดศึกยกใหม่ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการกงสุล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-7 ขอให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางของตนเอง โดยอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายจาตุรนต์อ้างว่า ตนเองไม่ได้รับแจ้งคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทราบจากการที่กรมการกงสุลออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ว่า เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา เนื่องจากตนเป็นบุคคลที่มีหมายจับ และอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ
นายจาตุรนต์อ้างอีกว่าเหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศอ้างในการยกเลิกหนังสือเดินทางตนเองนั้น เป็นเท็จ เพราะตนเองไมใช่บุคคลที่มีหมายจับหรืออยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ที่ผ่านมามีคดีที่อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องตนต่อศาลทหาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตนถูกควบคุมตัวโดยสมัครใจเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ไม่มีการออกหมายจับแต่อย่างใด และขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร โดยตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และที่ว่าตนอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศก็ไม่เป็นจริง เพราะขณะนั้นไม่ได้เดินทางไปไหน
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 ระบุว่า “ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้พิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีหมายจับและเดินทางไปต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 23 (2) ประกอบข้อ 21 (2) จึงได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558”
เมื่อย้อนไปดูระเบียบดังกล่าว ข้อ 21(2) มีใจความสรุปว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทางในกรณี เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้
ก็จะเห็นว่าเป็นระเบียบที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยกเลิกพาสปอร์ต แม้ว่าผู้ถือจะไม่ถูกออกหมายจับก็ตาม โดยเฉพาะหากตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ ซึ่งก็เข้ากรณีของนายจาตุรนตฺ์
การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอคืนพาสปอร์ตของนายจาตุรนต์ จึงส่อแววว่าจะซ้ำรอยคำร้องของนายทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ของเขานั่นเอง
“จาตุรนต์” พล่าน! หลังพบอธิบดีกงสุล ขีดเส้น 15 วัน “บัวแก้ว” ต้องทบทวนยกเลิกพาสปอร์ต เล็งฟ้ององค์กรอื่นขอความเป็นธรรม อ้างจำกัดสิทธิ ในความเป็นพลเมือง โวย! ถูกลงโทษด้วยเรื่องอะไร เหตุคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเขตอำนาจศาล ยังไม่มีการเริ่มไต่สวน จะมาลงโทษห้ามเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้
ช่วงบ่ายวันนี้ (3 ก.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักไทย ได้นำหนังสือเดินทางปกสีน้ำตาล (พาสปอร์ต) ที่ถูกยกเลิกมาแสดงต่อสื่อมวลชน พร้อมระบุว่า เป็นเล่มที่หมดอายุ และตนนำมาทำออกเล่มใหม่ โดยกรมการกงสุลออกเล่มใหม่ให้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา
จากนั้นได้เดินทางเข้าพบ นายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสอบถามเหตุผลของการออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือร้องขอ
นายจาตุรนต์ กล่าวก่อนเข้าพบว่า จะสอบถามสาเหตุการยกเลิกหนังสือเดินทางของตน และหน่วยงานใด ใช้อำนาจอะไรทำเรื่องมาให้ยกเลิก เพราะได้เห็นคำชี้แจงของกรมสารนิเทศผ่านทางเว็บไซต์ที่เป็นเพียงข้อความสั้น ๆ และยังมีคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก
ดังนั้น อยากถามว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบหลักฐานข้อเท็จจริงดีแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ตนได้ทำหนังสือถามปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเหตุผลการยกเลิกพาสปอร์ต เพื่อให้ตอบเป็นลายอักษรออกมาและจะหาทางดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันมาว่า มีการเตือนแล้ว แต่ยังทำผิดซ้ำซากนั้น ตนเห็นว่า ต้องถามว่านายกฯดูจากอะไรมาเป็นการพิจารณาว่าตนทำผิด และการยกเลิกหนังสือเดินทางนำมาใช้ลงโทษไม่ได้ อีกทั้งเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะเป็นสิทธิพลเมืองเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีโอกาสใช้สิทธิเดินทางระหว่างประเทศได้ตลอด
“ดังนั้น การยกเลิกหนังสือเดินทาง ทำให้คนขาดสิทธิในความพลเมือง ต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก และจะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามกฎหมาย ผมถูกลงโทษด้วยเรื่องอะไร เพราะคดีที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาเขตอำนาจศาล ยังไม่มีการเริ่มไต่สวนจะสรุปว่าผิดก็ไม่ได้ จากนั้นผมไม่มีการกระทำอะไรผิดกฎหมาย จะมาลงโทษห้ามเดินทางทำไม่ได้”
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ได้ขอเข้าพบหารืออธิบดี เพราะการยกเลิกหนังสือเดินทางทำให้ตนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิแม้ขั้นพื้นฐาน ต้องถามว่าต่อไปจะความเห็นได้หรือไม่
ภายหลังหารือกว่าสิบนาที นายจาตุรนต์ กล่าวว่า อธิบดีกรมการกงสุล ได้ชี้แจงถึงสาเหตุการยกเลิกพาสปอร์ตว่าเป็นเพราะได้รับการร้องขอจากหน่วยงานทางปกครองขอมา อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเข้าใจว่าการทำงานของกรมการกงสุล เคยปฏิบัติมาอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะตนไม่ได้อยู่ระหว่างออกหมายจับหรือหลบหนี และการเดินทางออกนอกประเทศอยู่ในอำนาจของศาลทหาร
“ผมได้ยื่นให้กระทรวงการต่างประเทศทบทวนการยกเลิกพาสปอร์ต ภายใน 15 วัน ถ้าไม่ทบทวน ผมจะดำเนินการร้องขอให้องค์กรอื่นพิจารณาให้สิทธิกลับคืนมา ซึ่งผมเชื่อว่าบ้านเมืองนี้ยังมีองค์กรที่มีความเป็นธรรมอยู่” แกนนำเพื่อไทย กล่าว