xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” ชี้เปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลปูทางตุลาการภิวัฒน์ ฉะ แบนถอดถอนซ้ำขัดหลักนิติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
“จาตุรนต์” โวย ส.ว. แต่งตั้ง ดึงอำนาจ ปชช. ทำลายการถ่วงดุล ชี้ ตัดอำนาจรัฐสภาถอดถอน ขัดหลัก ปชต. มองเปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลมาก เพิ่มบทบาทตุลาการภิวัฒน์ ที่เคยทำให้การเมืองมีปัญหา เหตุพัวพันมากไป แถมอำนาจล้นไม่เชื่อมโยง ปชช. ฉะ แบนคนที่ถูกถอดถอนซ้ำ ลงโทษย้อนหลังทั้งที่ไร้ความผิด ขัดหลักนิติธรรมซ้ำสอง แบนตลอดชีพไม่ควรรวมห้ามใช้สิทธิ

วันนี้ (29 พ.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้งว่า การให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง และให้ ส.ว. มาจาการแต่งตั้ง มันไม่ได้ทำให้ถ่วงดุลอะไรกัน แต่เป็นการดึงอำนาจจากประชาชน ไปอยู่ในมือผู้ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ขณะที่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ยังมีอำนาจมากมายอยู่ดี เท่ากับยิ่งทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะระบบการถ่วงดุลที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ การที่จะให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบองค์กร ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่วันนี้กำลังสวนทางกับสิ่งที่กำลังจะเป็น

นอกจากนี้ การโอนอำนาจการถอดถอดไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และถ้ามีปัญหาไปให้ไปที่ศาลฎีกา เท่ากับขัดหลักประชาธิปไตย ซึ่งระบบการถอดถอน ที่ประเทศไทยนำมาใช้นั้น ได้ศึกษามาจากต่างประเทศ ถ้าไปดูประเทศที่มีระบบการถอดถอนส่วนใหญ่ที่ถือเป็นหลักสากล อำนาจการถอดถอนเป็นของรัฐสภา เพราะถือว่ารัฐสภามาจากประชาชน มีอำนาจถอดถอนทั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ คือ มักจะเริ่มและสิ้นสุดที่รัฐสภา มีบางประเทศที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลสูง ตัดสินขั้นสุดท้าย ส่วนการตัดสินใครถูกใครผิดทางกฎหมาย เป็นเรื่องตุลาการ แต่เมื่อ กรธ. มาออกแบบอำนาจถอดถอนไปให้ตุลาการ มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดสัมพันธ์ 3 อำนาจครั้งใหญ่ ขาดการถ่วงดุล เมื่อตุลาการมาจัดการกันเอง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลอย่างมากในครั้งนี้ มันกำลังกลายเป็นก้าวใหญ่ ในการเพิ่มบทบาทของสิ่งที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งเริ่มนำมาใช้ก่อนปี 49 ทำให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทจัดการฝ่ายการเมือง และได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองแล้ว ยังทำให้การเมืองยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมการเมืองเอง เนื่องจากฝ่ายตุลาการเข้ามาพัวพันกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป และกำลังทำให้ฝ่ายตุลาการที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน มีอำนาจสูงสุดกว่าอำนาจอธิปไตยทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า สัปดาห์หน้า กรธ. จะมีการพิจารณานักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี รวมถึงบุคคลที่ถูกถอดถอน ว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้ง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่แค่จบลงแล้ว แต่เป็นการลงโทษคน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีความผิด ด้วยการใช้กฎหมายย้อนหลัง และเป็นกฎหมายที่ลงโทษบุคคลจากการสังกัดองค์กร ที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการลงโทษคนต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของคน ๆ นั้น ไม่ใช่เกิดจากการสังกัดองค์กร ถ้าจำกัดสิทธิ์อะไรกันอีก เท่ากับขัดหลักนิติธรรมซ้ำสอง และที่จะมีการตัดสิทธิ์คนทุจริตตลอดชีวิตนั้น ถ้าหากว่าห้ามเขาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ก็อาจจะคิดได้ แต่ปัญหาแบบหนึ่ง ที่ผ่านมา มีคนมักพูดว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมาก แต่ไม่มีใครพูดว่า ทำไมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่ให้ใบเหลือง การให้ใบเหลืองจึงเกิดขึ้นน้อยมาก การเน้นการลงโทษจึงไม่ถูกจุด เมื่อ กกต. ไม่ได้เอาผิดกับใคร คนก็ไม่กลัวบทลงโทษอยู่ดี

นอกจากนี้ อีกประเด็นคำว่าลงโทษตลอดชีวิต มันไม่ควรร่วมถึงการเพิกถอนสิทธิ์การลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะถือเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพลเมือง เมื่อเขายังเสียภาษีอยู่ ดังนั้น เขาควรมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่สังคมไทยเอาไปรวมกันหมด โดยประธานกรรมการ กรธ. คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ์ขั้นฐานประชาชนเกินกว่าเหตุ ก็คงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้ว กรธ. กำลังออกแบบอะไรกันแน่ เพราะถ้ามันค่อยคืบคลายเป็นการออกแบบประชาชนไม่มีอำนาจอะไร ทำลายระบบรัฐสภา และระบบการเมืองโดยรวม และอีกอย่างเป็นความสกัดกั้นพรรคเมืองบางพรรคบางฝ่าย ไม่ให้กลับสู่อำนาจ ต้องติดตามสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น กำลังทำให้เกิดผลสมบูรณ์อย่างที่มีเค้าลางชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น