xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชาต” แจงเพิ่ม กกต.9 อรหันต์ แทรกแซงยากขึ้น ใช้บอร์ดบริหารแทนแบ่งงานเฉพาะด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิชาต สุขัคคานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
สงขลา - เวทีการรับฟังความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญในภาคใต้ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยเพิ่ม กกต. เป็น 9 คน หวังให้ถูกแทรกแซงยากขึ้น และใช้รูปแบบบอร์ดแทนแบ่งแต่ละด้าน ชี้ จะได้ช่วยกันทำ ด้านที่ปรึกษา กรธ. เผยแนวคิดที่จะไม่ให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. เหตุเกิดปัญหาเลือกตั้งซ่อม กระทบต่อการคำนวณสัดส่วน ส.ส. ทั้งหมด จ่อผุดหลักเกณฑ์ประมวลจริยธรรม นอกสภาห้าม ส.ส. ใช้ความเป็นรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์เฉพาะฐานเสียง “นพ.เกรียงศักดิ์” เสนอสภาพลเมืองตรวจสอบนักการเมือง

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง กกต. ต่อการบริหารจัดการการเลือกตั้ง และการป้องกันการทุจริตเลือกตั้งในอนาคต ว่า จากโครงสร้างที่ให้เปลี่ยนไปจากที่มี กกต. 5 คน เป็น 9 คน รวมทั้งกำหนดที่มาให้รัดกุม ก็เพื่อหวังให้ถูกแทรกแซงได้ยากขึ้น ขณะที่ กกต. ในอนาคตก็จะต้องปรับการทำงานจากเดิมที่เป็นฝ่าย ๆ ทั้ง 5 ฝ่ายแยกกันไป เป็นการทำงานในรูปแบบของบอร์ดบริหารที่รับผิดชอบร่างกัน รวมทั้งเมื่อต้องไปลงพื้นที่ตรวจตราการเลือกตั้ง เมื่อมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นก็จะได้กระจายออกไปทั่วประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต. เพียง 1 คน ก็สามารถสั่งระงับการเลือกตั้งหากพบเหตุของการทุจริตซึ่งหน้า

“สมัยผมเขาใช้วิธีแบ่งด้านกันไปทำ ซึ่ง กรธ. ก็เห็นว่าไม่ดี ควรจะมาช่วยทำร่วมกันจะได้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงให้ทำงานในลักษณ์ของบอร์ดบริหารแทนที่จะต่างคนต่างทำงาน” นายอภิชาต กล่าว

นายอภิชาต กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยเราไม่เหมือนกับสากล คือ ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ประเทศอื่น ๆ ที่ไปดูเขาไม่มีการไปเข้าแถวรับเงินกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีที่เราต้องแก้ให้ได้

นอกจากนี้ นายอภิชาต ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร เปิดเผยด้วยว่า ทางอนุกรรมการมีข้อเสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปห้ามรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. จะต้องลาออกจาก ส.ส. ในภายหลังอีกต่อไป เนื่องจากระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปการต้องลาออกจาก ส.ส. อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา

นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ. และ อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวคิดที่จะไม่ให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. นั้น เนื่องจากในระบบการเลือกตั้งแบบ MMA ซึ่งในบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผลของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หากจะให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จากบัญชีรายชื่อต้องลาออกอาจไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่ แต่หากเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จะทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม โดยจะเกิดปัญหาตามมา คือ คะแนนของการเลือกตั้งซ่อมของพรรคเดิมอาจได้ไม่เท่าเดิม หรือหากแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม ก็จะยิ่งกระทบต่อการคำนวณสัดส่วน ส.ส. ทั้งหมด และยิ่งเป็นแบบนี้หลายเขตก็จะยิ่งเกิดปัญหาจำนวน ส.ส. ไม่รับกับสัดส่วนคะแนนทั้งประเทศได้

“กรธ. จึงใช้เกณฑ์ของจริยธรรมการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมากำหนดการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. โดยหากเข้าไปในสภา ก็ให้ทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่รับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ แต่หากออกจากสภาก็ต้องเป็นฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบต่อประชาชนทั้งประเภท ต้องไม่ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน ดังนั้น เวลาเข้าสภารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. สามารถยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายที่กระทรวงของตนเสนอได้ ยกมือลงมติไว้วางใจตนเองก็ได้ แต่ห้ามใช้อิทธิพลของฝ่ายบริหารมาแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เวลาอยู่นอกสภาก็ห้ามใช้อำนาจหน้าที่ความเป็นรัฐมนตรีไปเอื้อประโยชน์หรือเอาโครงการเอางบประมาณไปลงเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงอย่างเดียว” นายเจษฎ์ กล่าว

นายเจษฎ์ กล่าวอีกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จะให้ร่างโดยตัวแทนของหลาย ๆ องค์กรอิสระ ซึ่งร่างแล้วองค์กรอิสระก็ต้องปฏิบัติตามด้วย ส่วนผู้ชี้ขาดความผิดทางจริยธรรมเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับเวทีการรับฟังความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญในภาคใต้ ประกอบด้วย ผู้ร่วมเสวนาจาก 14 จังหวัดภาคใต้ 170 คน มาจากผู้แทนส่วนราชการ 33 คน ผู้แทนองค์กรเอกชน และประชาสังคม 6 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 คน นักวิชาการฯ 5 คน ประชาชน 100 คนและสื่อมวลชน 20 คน

ทั้งนี้ ประเด็นเวทีกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม มีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มสิทธิเสรีภาพที่พึงปรารถนา นายลือชา บังแก้ว ชาวนครศรีธรรมราช อายุ 45 ปี อาชีพทำสวน ตัวแทนกลุ่มนำเสนอว่าส่วนใหญ่เสนอให้รัฐจัดสวัสดิการให้ประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ มีการคุ้มครองการแสดงความคิดเห็น เข้าถึงการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้น

กลุ่มรัฐที่พึงปรารถนา นายคะนึง ฉิมเกื้อ ชาว จ.สตูล อายุ 50 ปี ผู้นำชุมชน ตัวแทนกลุ่มนำเสนอว่า อยากให้รัฐใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร เป็นรัฐประชาธิปไตย ให้มีองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ ให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมโปร่งใส ให้เป็นรัฐสวัสดิการที่ปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างจริงจัง

กลุ่มการได้มาซึ่งตัวแทนที่พึงปรารถนา นายจิตร ทวิตา ชาวสงขลา อายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย ตัวแทนกลุ่มนำเสนอว่านายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเปิดเผยผู้ที่จะเป็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ส่วน ส.ส. ต้องเปิดเผยตัวผู้ช่วย ส.ส. ที่รับผลตอบแทน อาจเปิดให้มีผู้สมัครอิสระ ให้มีจำนวน ส.ส. ระหว่าง 300 - 350 คน กำหนดให้ตรวจสอบภาษีและทรัพย์สินย้อนหลังไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้ขึ้นทะเบียนหัวคะแนนกับ กกต. ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวด ให้แยกการเลือกตั้งผู้บริหารกับสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เป็นกลุ่มพวกเดียวกัน

กลุ่มการกระจายอำนาจ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ชาว จ.กระบี่ อายุ 48 อบจ.กระบี่ ตัวแทนกลุ่มนำเสนอว่าอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง กำหนดการกระจายอำนาจสู่จังหวัดจัดการตนเอง ฐานภาษีในพื้นที่ 70 % มีการจัดผังเมืองรวมโดยคำนึงถึงพื้นที่ ให้มีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระ 5 ปี

กลุ่มการปฏิรูปประเทศที่พึงปรารถนา นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ชาว จ. สงขลา อายุ 58 ปี ตัวแทนกลุ่มนำเสนอว่า ควรมีสภาพลเมืองมาตรวจสอบฟ้องนักการเมือง ข้าราชการและนายทุนที่กระทำทุจริต จัดตั้งศาลคดีทุจริตคอรับชั่นและศาลคดีทุจริตการเลือกตั้ง โดยผู้ต้องหาต้องเป็นผู้พิสูจน์ตนเอง หลักสูตรการศึกษาต้องแปรตามท้องถิ่น โดยมีมาตรฐานหลักประกันคุณภาพของผู้เรียน จัดเก็บภาษีแวทเพิ่ม 3% เพื่อดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพร้อมกัน นักการเมืองท้องถิ่น จนถึงระดับชาติห้ามผูกขาด เป็นได้เพียงสองสมัย ให้ยึดทรัพย์ผู้ทุจริตโดยแบ่ง 30% ให้ผู้ฟ้อง และขอให้ปฏิรูปเสร็จก่อนแล้วจึงจัดการเลือกตั้ง

ในส่วนของกลไกการแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งซึ่งเป็นประเด็นที่ให้ทุกกลุ่มไปพิจารณานั้น มีข้อเสนอโดยรวมว่าควรเปลี่ยนแนวคิดการเลือกตั้งให้พึ่งประชาชนมากกว่าองค์อิสระ และให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสการทุจริตการเลือกตั้ง และคุ้มครองประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งตัดสิทธิ์คู่สมรสและทายาท กักขังบริเวณห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทุกระดับ ห้ามเปลี่ยนนามสกุล และยกเลิกหนังสือเดินทาง และลงโทษผู้ทุจริต เสนอให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ หากไม่ไปลงคะแนนให้ตัดสิทธิ์สวัสดิการที่ได้จากรัฐ ปรับผู้ขายเสียงตั้งแต่การปรับถึงการจำคุก คดีเลือกตั้งต้องไม่มีอายุความ

นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. สอบถามผู้ร่วมเสวนาเรื่องการขึ้นทะเบียนหัวคะแนน นายจิตร ชาวสงขลา ในฐานะผู้เสนอกล่าวว่ารูปแบบหัวคะแนนควรต้องเป็นระบบผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้งของพรรค จนถึงหัวคะแนนระดับหมู่บ้านชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น