xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชง 6 ข้อเสนอ กรธ.หวังสร้างกติกายั่งยืน แนะเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใส่ปฏิรูปใน รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จุรินทร์” นำทีมยื่น 6 ข้อเสนอ ปชป.ขอ กรธ.ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจ ปชช. จัดการซื้อเสียงให้มีประสิทธิภาพ สอบถ่วงดุลต้องมีดุลยภาพ เลือกตั้งบัตร 2 ใบแต่ไม่ใช่โอเพนลิสต์ ปฏิรูปต้องลงใน รธน.ประชามติให้ ปชช.รับรอง รบ.ใหม่ไม่ทำตามมีความผิด ปรองดองตาม กม. หวัง รธน.เป็นกติกายั่งยืน ไม่ใช่แค่ออกมาเฉพาะกาล เชื่อเจตนา “มีชัย” รับฟังเพื่อปรับจุดอ่อน ประชามติไม่ผ่านอีกนำ รธน.50 มาปรับใช้

วันนี้ (4 พ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวม 6 ข้อมายื่นต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาหารือร่วมกัน 10 นาที

ภายหลังการหารือ นายจุรินทร์เปิดเผยว่า ประเด็นที่ได้เสนอทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตอนนี้เสนอเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าไม่ควรน้อยกว่าปี 2550 แต่อาจมีประเด็นอื่นๆ เสนอตามมาตามวาระที่คณะกรรมการพิจารณาในประเด็นนั้นๆ 2. ควรมีกลไกและมาตรการเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง และการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นธรรมรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เช่น การตัดสิทธิผู้กระทำการทุจริตในการเข้าสู่อำนาจรัฐไม่ว่าในรูปแบบใด รวมทั้งการรับราชการ การเข้าสู่รัฐวิสาหกิจ หรือกลไกใดๆ ในภาครัฐหากมีการทุจริต ไม่ควรได้กับสู่ตำแหน่งตลอดชีวิต นอกจากนี้ ควรมีกรอบเวลาในการพิจารณาคดีทุจริต เช่น คดีที่ผ่านการตรวจสอบของระบบรัฐสภาแล้ว เมื่อไปสู่ ป.ป.ช. หรือกระบวนการยุติธรรม ควรมีกรอบเวลาชัดเจนเพื่อการดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลงโทษคนผิดอย่างทันท่วงที และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีทุจริต คือสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐได้ในกรณีที่มีการทุจริต

3. ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลต้องมีดุลยภาพและประสิทธิภาพ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ เช่น ในการถ่วงดุลระบบรัฐสภา รองประธานสภาควรมาจากฝ่ายค้านด้วย รวมทั้งประธานกรรมาธิการชุดสำคัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ เช่น กรรมาธิการ ป.ป.ช. หรือกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ก็ควรมาจากฝ่ายค้านเพื่อให้การตรวจสบถ่วงดุล มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับประชาชน 4. ระบบเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคเห็นว่าไม่มีระบบใดที่จะไม่มีข้อเสียเลย แต่ระบบจัดสรรปั่นส่วนผสม แม้ว่าจะเห็นด้วยในหลักการกับการให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงของประชาชน และต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จึงเห็นว่ามีจุดอ่อนอยู่บางประการ คือการให้ใช้บัตรใบเดียวลงคะแนนจะไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ เพราะการให้ลงคะแนนด้วยบัตรใบเดียวเป็นการกึ่งกำหนด กึ่งบังคับให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคนกับพรรครวมกัน แต่ถ้าประชาชนต้องการเลือกคนกับพรรคแยกกันก็ไม่สามารถสะท้อนความต้องการนี้ได้เพราะมีบัตรใบเดียว และยังทำให้คะแนนเสียงที่เลือกผู้สมัครคนหนึ่งถูกไปคำนวณทำให้ได้ผู้แทนอีกคนหนึ่ง จึงเท่ากับว่าคนที่ได้ที่สองก็ไมได้เป็น ส.ส.ทั้งที่ประชาชนตั้งใจเลือกคนนี้ ดังนั้นหากมีการปรับปรุงให้เป็นการเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ คือ ใบหนึ่งเลือกคน ส.ส.ระบบเขต อีกใบหนึ่งเลือกพรรค และใช้คะแนนมากำหนดเกณฑ์ ส.ส.ของพรรคที่จะได้ ซึ่งตนดีใจที่ทางคณะกรรมการเคยให้ความเห็นว่ายินดีรับฟังทุกฝ่ายเพื่อไปประกอบการพิจารณา

5. เรื่องการปฏิรูป หัวหน้าพรรคเห็นว่าควรกำหนดประเด็นปฏิรูปให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าต้องทำเรื่องอะไรบ้างแล้วนำไปทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศให้การรับรอง จากนั้นให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งดำเนินการปฏิรูปให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ 6. เรื่องของการปรองดอง ยังยืนยันว่าต้องยึดหลักกฎหมาย ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูกเพื่อสร้างความปรองดองในระยะยาว หากจะมีการนิรโทษกรรมต้องเฉพาะคดีเล็กน้อย ไม่ใช่คดีทุจริตหรือคดีอื่นๆที่ไม่ใช่ความผิดเล็กน้อย

นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีที่ กรธ.มีแนวคิดว่าคะแนนของคนแพ้ถูกทิ้งน้ำไปจึงออกแบบให้มีการเลือกโดยใช้บัตรใบเดียวแล้วนำคะแนนดังกล่าวมาคำนวณว่า ต้องยอมรับความจริงว่าแม้แต่ประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยอย่างเยอรมนี คะแนนก็ถูกทิ้งน้ำไปเสีย เพราะคนที่ไมได้รับเลือกตั้งก็คือว่าปล่อยทิ้งไป แต่ที่พวกตนเสนอเพื่อให้พิจารณาถึงความเหมาะสมให้เป็นระบบเลือกตั้งระยะยาวของประเทศ และเป็นที่ยอมรับได้ ควรจะเป็นอย่างไร

“พรรคต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของความยั่งยืนของกฎเกณฑ์กติกาของประเทศ ไม่อยากให้ออกมาเฉพาะกาลเพื่อแก้ปัญหาเที่ยวนี้ แล้วเที่ยวหน้าค่อยมาคิดกันอีกที แต่ไมได้หมายความว่าระบบของ กรธ.จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งข้อเสนอของพรรคคิดว่ามีข้อเสียน้อยระบบหนึ่ง และไม่ได้เสนอเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคใด เพราะคิดถึงประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยระยะยาว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ประชาชนก็มองออกว่าใครเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว”

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังยอมรับว่า ข้อเสนอที่กำหนดให้เลือก ส.ส.ได้ 2 ใบ คล้ายกับแนวคิดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ไม่ใช่โอเพนลิสต์ ส่วนจะมีการคำนวณอย่างไรเป็นรายละเอียด ซึ่ง กรธ.มีหน้าที่ไปคิด แต่ถ้าติดต้องการความเห็นเพิ่มเติมก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ส่วนที่มองกันว่าระบบเลือกตั้งที่ออกแบบตั้งแต่ยุคนายบวรศักดิ์มาถึงยุคนายมีชัย มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมนั้น ตนยังเชื่อในเจตนาดีของนายมีชัย และกรธ. หากจะรับฟังความเห็นเพื่อไปปรับจุดอ่อน และแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องได้ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น เป็นการให้ความเห็นที่สร้างสรรค์ ไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดปัญหา ทั้งนี้การจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสมเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยจากตัดสินใจของประชาชน หากประชาชนเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชัดเจนเพื่อให้ไปบริหารประเทศก็ต้องยอมรับเพราะเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าไม่พอก็ต้องรวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาล แต่ถ้ากลัวว่ารัฐบาลจะเข้มแข็งเกินไปควรจะมีการออกแบบระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่รัฐบาลตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเดิมเพื่อให้การตรวจสอบถ่วงดุลได้ จนเกิดดุลยภาพในการตรวจสอบ ทั้งนี้คิดว่านายมีชัยคงมีความคิดเบื้องต้นอยู่ในใจแล้ว

ส่วนกรณีที่เสนอให้มีการระบุประเด็นปฏิรูปที่ชัดเจนแล้วนำไปสู่ประชามติ กำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเดินหน้าต่อนั้น ยังจำเป็นต้องมีกลไกอื่นมารองรับอีกหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่าฝ่ายบริหารมีหน้าที่ปฏิรูปประเทศ แต่ถ้ากลัวว่ารัฐบาลจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็เขียนข้อบังคับไว้ถ้าประชาชนลงมติแล้วว่าต้องการให้ปฏิรูปอะไรบ้าง รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งไม่ทำตามก็มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่ทำก็อยู่ไมได้ และมีความผิดด้วย จึงไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมอีก

สำหรับแนวทางปรองดองนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังไม่ทราบแนวทางของกรรมการ แต่เราต้องยึดหลักกฎหมายเท่านั้นสังคมจึงจะสันติในระยะยาว และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าถ้าไม่เคารพกฎหมายก็ต้องยอมรับผิดไม่มีกลไกใดมายกโทษให้ สังคมก็จะเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าไม่บิดเบือน ใครทำผิดเปลี่ยนไปเป็นถูก ทุกคนก็จะไม่เคารพกฎหมายสุดท้ายความปรงดองก็เกิดไม่ได้ สังคมวุ่นวายในระยะยาวจึงต้องยึดหลักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลังจากเสนอความเห็นในครั้งนี้แล้ว หากมีประเด็นใดที่เห็นว่าต้องเสนอเพิ่มเติมก็จะเสนอมายัง กรธ.อีกโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ เพราะข้อเสนอนี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น และจากการยื่นหนังสือนี้ก็ยังไม่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับนายมีชัยมากนัก เพียงแต่พูดคุยกันกว้างๆ และขอบคุณที่ให้เกียรติ์รับเอกสารด้วยตนเอง ส่วนหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติของประชาชนก็เคยให้ความเห็นไปแล้วว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาปรับปรุงแก้ไข ส่วนที่ไม่พูดถึงปี 40 เพราะมีการบังคับใช้ไปแล้วและมีช่องโหว่ จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 50 จึงถือว่ามีความสมบูรณ์ตามสมควรแต่ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขเพื่อสอดคล้องกับอนาคตประเทศได้

“ผมคิดว่าคนที่มีอำนาจต้องคิดว่าหากทำประชามติไม่ผ่านจะต้องมีคำตอบอย่างไร ซึ่งจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ไมใช่เรื่องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวควรมีคำตอบเรื่องนั้นไว้ด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น