ย้ำ! 21 กรธ.มีอำนาจตั้ง 9 ที่ปรึกษา จ่อ ใช้คนเคยผ่านเวทีร่าง รธน.ปี 40-50 ร่างฉบับบวรศักดิ์ “รองฯ วิษณุ” การันตี คนอย่าง “มีชัย” ใบสั่งไม่มีความหมาย สั่งก็ไม่ได้ ด้านอดีตรองประธาน สปช.วอนอย่ามองอดีต สปช.คนใดได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ร่าง รธน.คว่ำ ดูชื่อทหารมีความสามารถ “วรงค์” ดีใจได้อดีต กกต.ร่วม กรธ. สยบปัญหาการเลือกตั้ง
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 9 คนว่า กรธ.จะเป็นผู้พิจารณาเชิญที่ปรึกษาไม่เกิน 9 คน แต่ให้เผื่อคุณสมบัติผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 40, 50 และร่างรัฐธรรมนูญ 58 ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้พูดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คนที่เคยเป็นเลขานุการแต่ละชุดเข้ามา เพราะจะรู้เนื้อหาทั้งหมดว่าแต่ละมาตราเป็นมาอย่างไร แต่จะเอาด้านอื่นมาก็ได้ ซึ่งที่ปรึกษาไม่มีส่วนในการร่างหรือโหวต อาจจะเสนอแนะหรือเล่าว่าที่ผ่านมาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ กรธ.
ส่วนกรณีที่นายมีชัย แถลงว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็น ถือเป็นการคลายความกดดันต่อสังคมหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนบังคับไว้ว่าให้รับฟังความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงประชาชน ซึ่งนายมีชัยบอกว่า จะเริ่มฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ ใครอยากแนะนำอะไรก็แนะนำเข้ามาได้ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะมีการวิจารณ์เข้ามา ตอนนี้วิจารณ์ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเขียนกันอย่างไร และเป็นธรรมดาที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนของการร่างฯ ในครั้งนี้
“ที่ผ่านมามีการให้อิสระในการร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นนายมีชัย ยิ่งไม่มีใครไปกดดันท่านได้ และยิ่งไม่ต้องกลัวว่าจะมีใบสั่งให้ทำตาม ดีไม่ดีท่านเป็นคนสั่งแล้วให้คนอื่นทำตาม” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มีโอกาสที่จะมาเป็นที่ปรึกษาได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่ว่าเชิญแล้วเขาจะมาหรือไม่ ถ้าเชิญแล้วไม่มาก็บังคับไม่ได้
เมื่อถามถึงรายชื่อ กรธ.ที่นายมีชัยเสนอเข้ามาเป็นใคร นายวิษณุกล่าวว่า เป็นผู้ใหญ่ซี 10 ในสำนักงานกฤษฎีกา ที่เป็นกรรมการร่างกฎหมาย จะเข้ามาเป็นมือร่างกฎหมาย เพราะ กรธ.คนอื่นได้แต่บอกความคิด แต่การให้เขียนภาษากฎหมาย ถ้าไม่ใช่มือกฎหมายเขียนไม่เป็น
ทั้งนี้ นายวิษณุกล่าวด้วยว่า มีบุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ติดต่อให้มาเป็น กรธ.หลายคนที่ได้ทาบทามแล้วแต่ไม่รับ เพราะติดเงื่อนไงที่ห้ามเล่นการเมือง ซึ่งเขาก็บอกว่าตรงๆ ว่า ถ้าห้ามเล่นการเมือง 2 ปี ก็ไม่ขอรับ
ส่วน สปท.ก็ถือเป็นแม่น้ำสายหนึ่ง และขณะนี้ถือว่ามีแม่น้ำครบทั้ง 5 สายแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการนัดประชุมแม่น้ำ 5 สาย กันอีกอย่างแน่นอน ถือเป็นโอกาสที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้พบ สปท.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ด้วย
ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 มีชื่อเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และยังสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถือว่าขัดคุณสมบัติหรือไม่ ว่า ถ้าเวลาปกติอาจจะห้าม แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ห้ามไว้ เพราะเขียนไว้ว่า บทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้นำมาใช้ในเวลานี้ ไม่เช่นนั้นข้าราชการจะไปนั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ ตอนนี้เขาเว้นไว้ก็เป็นได้
น.ส.ทัศนา บุญทอง อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง รายชื่อ สปท.มีอดีตสปช.เข้าร่วมทำงาน 61 คนว่า เป็นการดีที่จะสานงานต่อ ซึ่งบุคคลที่เข้าไปทำงานเป็นคนที่มีศักยภาพและมีความรู้ อย่ามองว่าอดีต สปช.คนใดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เนื่องจาก สปช.ที่ไม่เห็นชอบร่างฯมีความคิดว่าร่างอาจจะไม่ผ่านชั้นประชามติ อีกทั้งผู้ที่พิจารณาแต่งตั้งก็ไม่ได้มองถึงประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนกรณีรายชื่อ สปช.มีสัดส่วนของทหารมากกว่าอื่นๆ อีกทั้งมีบุคคลที่เป็นนักการเมืองน้อยเกินไปหรือไม่ น.ส.ทัศนากล่าวว่า พรรคการเมืองบางพรรคก็ไม่ประสงค์ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง สปท. ส่งรายชื่อเข้าให้พิจารณาไม่มาก ส่วนเรื่องสัดส่วนของทหารที่มากนั้นก็เป็นเรื่องไม่แปลก ซึ่งทหารก็มีความรู้ความสามารถหลากหลายและมีการส่งเสริมความรู้ทางวิชาการเฉพาะด้าน สัดส่วนที่เข้ามานั้นก็คงได้รับพิจารณามาอย่างดีแล้ว ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น สปท.ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล เนื่องจากมีบางเรื่องรัฐบาลที่ทำไปแล้วและขอให้นำข้อมูลจากพิมพ์เขียว 36 วาระการปฏิรูป และ 7 วาระการพัฒนาที่ สปช.ทำไว้ประมวลว่าจะนำเรื่องใดมาปฏิรูปก่อนหลัง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ทั้งเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมือง หลายท่านก็ล้วนมีประสบการณ์อย่างโชกโชน โดยเฉพาะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือว่าเป็นที่ยอมรับจากสังคม สังเกตได้จากชื่อของท่านได้รับการกล่าวถึงมานาน ที่สำคัญในครั้งนี้ได้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมในการร่าง น่าจะได้ข้อคิดดีๆ จากนายอภิชาติ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และส.ว.
“สิ่งหนึ่งที่กรรมการชุดนี้ต้องตระหนัก คือ บทเรียนของร่างฯ ที่ผ่านมาว่าสิ่งใดเป็นปัญหา ควรจะเอาอดีตที่ผ่านมาศึกษา สิ่งดีๆ ในร่างที่ผ่านมาก็น่าจะเอามาใช้ สิ่งที่มีปัญหาก็ควรจะต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมทั้งนักการเมืองด้วย เพื่อให้ร่างนี้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ผมอยากให้กำลังใจกรรมการทุกๆ ท่าน เพราะเข้าใจดีว่าหลังจากเริ่มงาน กรรมการจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างยิ่ง สิ่งที่จะช่วยทุกท่านได้คือความตั้งใจจริงและคิดเพื่อประโยชน์ของชาติจะทำให้ท่านชี้แจงปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคมได้” นพ.วรงค์กล่าว