นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธทาบทาม “อานันท์ ปันยารชุน” เข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเลอะเทอะ เผยทาบทามคนเข้ามาแล้ว แต่จะเอา “บวรศักดิ์” อีกรอบต้องคุยกันก่อน มึนสื่อเปิดโผคงเขี่ยลูก ประชดเก้าอี้ประธาน “เดี๋ยวผมเป็นเอง” เผยสเปกต้องรู้กฎหมาย - รู้สถานการณ์ - รู้ใจรัฐบาลและ คสช. แต่คาดคงยำของเก่ามาปัดฝุ่น
วันนี้ (9 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ ว่า ทำไมต้องอยากรู้ทุกเรื่องทุกเวลา ที่บอกว่าประชาชนสนใจนั้น สื่อมวลชนนั่นแหละที่สนใจ เพราะเขียนข่าวออกมาให้คนสนใจ ทราบหรือไม่ว่าก่อนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติในร่างรัฐธรรมนูญมีประชาชนกี่คนที่ไม่รู้ว่ามี สปช. อยู่ ซึ่งตนอ่านจากสื่อทุกเล่มจึงรู้ว่าประชาชน 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้ว่ามี สปช. อยู่ นั่นแสดงว่า คนสนใจเรื่องนี้เพียงบางกลุ่มบางฝ่าย และถ้าเป็นแบบนี้ก็จะขัดแย้งไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะตั้งใครมาก็เป็นแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม การตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ตนจะพิจารณาตามสัดส่วน โดย 1. มีทั้งคนที่เคยเป็น สปช. ทั้งคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามความเหมาะสม 2. เจ้าหน้าที่ที่สามารถจัดทำแผนให้มีความชัดเจนขึ้น มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยนำแนวทางที่ศึกษาของกรรมการที่แล้วมาดู จากนั้นจึงจัดทำแผนงาน โครงการ โรดแมปให้เรียบร้อย เพราะแนวทางปฏิรูปจะต้องมีคนเหล่านี้เข้ามา 3. ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องปฏิรูป 4. ด้านความมั่นคงจะต้องเข้ามาเพื่อดูว่าจะทำส่วนใดได้บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่า ได้มีการทาบทามนายอานนท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “อานันท์ไหนละ” เมื่อตอบว่า อานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับทันทีว่า “เลอะเทอะ ยังไม่ได้ทาบเลย แล้วข่าวนี้มาจากไหน คนโน้นคนนี้อาจารย์นี้อาจารย์โน้น ผมยังไม่ได้พูดกับใครสักคน ทาบไหน ใครไปทาบ ใครทาบ คนทาบน่าจะเป็นผมมากกว่ามั้ง”
เมื่อถามว่า ตอนนี้การทาบทามคนเข้ามามีความคืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสัดส่วนตนได้ทำไปแล้ว และกำลังดูอยู่ว่าควรจะเป็นใครบ้างในงานแต่ละด้าน ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ตนไปคิด แต่เลือกจากสัดส่วนเช่น ข้าราชการก็ต้องคัดมาให้ตนเลือก
“มีทั้งนักกฎหมาย ข้าราชการ ซึ่งต้องเข้ามาด้วย เพราะเขารู้ว่าผมเปลี่ยนอะไรไปแล้วบ้าง อย่างที่แล้วมาเอาคนมาจากข้างนอกหมดเลย สปช. เอาคนจากข้างนอกเกือบทั้งหมด เขาก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ดังนั้น มันค่อนข้างกว้างเกินไปหรือเปล่า แต่นี่ก็จะทำให้มันดีขึ้น คือ ต้องเอาคนที่รู้เรื่องมาทำ เหมือนร่างรัฐธรรมนูญถ้าเอาคนที่ไม่รู้กฎหมายมามาก ๆ มันก็ตีกัน เพราะทุกคนก็เอาความคิดตัวเองเป็นอิสระ เพราะผมเองก็ไม่ได้ไปห้ามความคิดเขาไง แต่มันต้องทำให้ได้” นายกฯ ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลักการง่าย ๆ คือ 1. มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือจะเอาคนที่รู้การค้ามาทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องเอาคนที่รู้กฎหมายเป็นหลักเข้ามา ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ก็อย่าเพิ่งไปหา เพราะตนยังไม่ได้ทาบทามใครสักคน 2. ต้องรู้สถานการณ์ในวันนี้ ทั้งอดีตและวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ตัวคนที่จะมาต้องเข้าใจ เพราะถ้าไม่เข้าใจก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม เช่น ต้องการอย่างนี้อย่างนั้น ต้องการประชามติ ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ คิดแบบโลกสวย 3. ต้องรู้เจตนาของตน รัฐบาล และ คสช. ว่า เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปอย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นมันจะออกมาได้
“ในระหว่างที่ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมันก็ไม่ได้ใหม่มาก ก็เอาของที่ผ่านมาบ้าง ที่ไม่ผ่านตรงนั้นตรงนี้บ้าง เพราะในอดีตมีตั้งหลายอันก็เอามาดู ว่าอะไรที่เคยจะเอาเข้ามาหรือควรจะตัดออก อะไรที่ควรจะเพิ่มเติมไป แล้วเป็นเรื่องเฉพาะห้วงเวลา เช่น 5 ปีไหม หรือ 4 ปี อย่างที่เขาเถียงกันเรื่อง ส.ว. ซึ่งได้หรือไม่ได้ผมไม่รู้ เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ก่อน แล้วก็จะลดลงทีละปี ท้ายที่สุดมันก็มีเลือกตั้งทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่า จะให้มีประเด็นที่อ่อนไหวก่อนหน้านี้ เช่น นายกฯ คนนอก คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หรือหลายมาตราในบทเฉพาะกาลก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นมาใหม่ด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไปดู แต่ไปดูก็ใช่ว่าจะตัดออกเพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะต้องรู้คำถามข้อที่ 1 ของตนว่าโจทย์ของประเทศอยู่ที่ใด ให้นั่นเป็นจุดตัดสินใจว่าควรจะมีหรือไม่มี แล้ววันนี้นักการเมืองที่จะเตรียมการเลือกตั้งเขามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ก็ต้องขอบคุณเพราะวันนี้บางพรรคการเมืองก็ออกมาแสดงความเข้าใจแล้ว แต่บางพรรคก็ยังไม่เข้าใจเหมือนเดิม ก็ไปว่ากันมา
เมื่อถามว่า การสรรหาบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการร่างฯ ถือว่าลำบากหรือไม่กับสถานการณ์นี้ที่อาจไม่มีใครอยากเป็น นายกฯ กล่าวว่า ไม่อยากมาตนจะไปทำอะไรเขา ไม่มาก็ไม่มา ก็หาคนอื่น ไม่ลำบาก คนไทยมีคนเก่งตั้งเยอะแยะ เพียงแต่เขาจะรับหรือเปล่า ท้ายที่สุดไม่มีก็จะเอาสื่อนั่นแหล่ะ เพราะสื่อจะอยู่หัวข้อที่ 4 คือ ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะตั้งคำถามทุกวัน ทั้งที่รู้สถานการณ์ เพียงต้องมีหัวข้อข่าวให้ดุเดือด เผ็ดมัน ทำให้ตนพาลตามไปด้วย
เมื่อถามว่าวิธีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนจะเริ่มอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องสร้างการรับรู้ตามที่ตนได้พูดไป หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ถ้ายังไม่เข้าใจก็มาเริ่มข้อที่หนึ่งใหม่ ต้องพูดซ้ำ สื่อต้องสอนให้คนไทยฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่ฟังแต่หัวแต่หาง อ่านหนังสือพิมพ์ก็อ่านเฉพาะพาดหัว เหมือนกับแนวทางแก้ปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพง ขายสามตัวท้ายมีปัญหา ก็ให้ออกสามตัวหน้าด้วย วันหน้าสื่อพาดหัวข่าวให้ตัวเล็กทั้งหมดได้ไหม ชอบพาดว่า นายกฯ เม้งแตก โว ฟุ้ง ปัดโธ่ ก็ไม่เขียนให้ตัวเท่าๆ กัน ดูสิคนจะอ่านไหม แต่นี่อ่านแต่หัวจั่ว เอาแล้วเริ่มประชุมกันเถียงกัน ไอ้นี่ชอบนายกฯ ไอ้นี่ไม่ชอบนายกฯ ยังไม่ดูไส้ในเลย มันต้องให้คนมีวิจารณญาณในแต่ละเรื่อง ใครอยากรู้การเมืองก็ดูว่าควรจะทำอย่างไร รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. จะมาอย่างไร แต่นี่รวมกันหมด มันไม่ได้ ตั้งบริษัทแบบนี้ไม่ลงทุนนี่หว่า แบบนี้ค้ากำไรเกินควร เรากำลังทำประเทศไทยให้รุ่งเรือง
“ฉะนั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วม สื่อก็มีหุ้นส่วนใน 70 ล้านคนนะโว้ย ถ้ามันจะดีหรือไม่ดี ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับฉัน เธอก็โทษฉันยัน ให้ฉันมาแก้ตั้งกี่เรื่องอยู่ตรงนี้” นายกฯ กล่าว
ระหว่างนั้น ผู้สื่อข่าวบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นเพราะนายกฯ อยู่ในที่สว่างย่อมถูกจับจ้องเป็นธรรมดา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เชอะ แล้วสื่ออยู่ที่มืดหรืออย่างไร หรือนายกฯ ต้องเป็นนายกฯ โมโหไม่ได้ ถามอะไรก็ต้องตอบ ถ้าไม่ตอบก็อย่าตอบ ไม่เห็นเป็นอะไร แต่พอไม่ตอบก็บอกว่าไม่ใช่ข่าว ไม่ใช่ข้อมูลแต่พอพูดไป ก็บอกว่า โว ฟุ้ง อารมณ์เสีย จะเอายังไงดี แต่ก็รู้ว่าทุกคนรักตน ซึ่งจะคิดเอาเองหรือเปล่าก็ไม่รู้
เมื่อถามว่าจะใช้บริการความสามารถ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่ออย่างไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องปรึกษากัน และคุยกันก่อน เขาเป็นศัตรูตนหรือ
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่นายกฯ จะให้มาช่วยเป็นกรรมการร่างฯ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มี ยังไม่ได้คิด เมื่อวานนี้มีมีกระแสข่าวการตั้งใครเป็นประธานนู่นนี่ ตนเห็นชื่อแล้ว ยังไม่ได้คิดถึงเลย หรือเป็นการเขี่ยลูก เมื่อถามว่าเวลานี้นึกถึงใครที่จะให้มาเป็นประธานกรรมการร่างฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวผมเป็นเอง” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าจริงหรือไม่ที่จะเป็นเองเพราะจะได้พาดหัวข่าวเลย นายกฯ ตอบทันที ว่า “ยังไม่รู้” พร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดีและกล่าวว่า เอาเชียว ๆ ไอ้บ้า เนี้ยะมันก็โยนกลับมาให้ฉันอีก เดี๋ยวเตะให้ ฉันก็พูดเล่นของฉันไปเรื่อย หาไม่ได้ก็เป็นเองก็ได้วะ ไหน ๆ ก็โดนอยู่แล้วไง เอาล่ะจะทำให้มันดีขึ้นก็แล้วกัน
เมื่อถามว่า วันนี้ความขัดแย้งที่ยังมีอยู่นั้นอยู่ตรงไหน นายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่หัวใจของคน หัวใจสื่อ หัวใจของคนไทยทุกคน ถ้าทุกคนยังอยากมีความขัดแย้งอยู่มันก็จะขัดแย้งไปเรื่อย ๆ อยู่ร่ำไป ๆ เข้าใจไหม ฉะนั้น สื่อต้องทำหัวใจให้ใสสะอาด รู้จักหัวใจใสสะอาดไหมคือผิดก็ว่าไป ไม่ผิดก็ว่าไปถ้าเราเอาแต่ความเกลียดชังไปเรื่อย ๆ มันไม่ได้ ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีวันเลิก ต่อให้ตนใช้อำนาจร้อยอำนาจก็ทำไม่ได้เพราะหัวใจพวกเราไม่ต้องการความสงบ สันติ