ผ่าประเด็นร้อน
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกคว่ำไปโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมานับหนึ่งใหม่ซึ่งก็มีการยืนยันว่านี่ก็เป็น “อีกโรดแมป” หนึ่งเหมือนกัน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ไปก็ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาจำนวน 21 คน ภายใน 30 วัน และใช้เวลายกร่างใหม่ภายใน 180 วัน จากนั้นก็ไปสู่ขั้นตอนการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี คราวนี้จะไม่มีสภาในแบบสภาปฏิรูปแห่งชาติเหมือนกับที่แล้วมา แต่จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 200 คน ทำหน้าที่ในด้านการปฏิรูปแต่จะไม่ข้องเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้งคณะกรรมการยกร่างฯ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ มาจากการแต่งตั้งโดยตรงของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง ส่วนในรายละเอียดตามความเป็นจริงจะต้องมีการปรึกษาหารือกันภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่แล้ว
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นก็ต้องพิจารณาจากคำพูดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสียก่อน เพื่อจะได้เห็นเส้นทางเดินในวันข้างหน้า เพราะเขายังถือว่าเป็นมันสมองคนสำคัญที่ชี้ทิศทางได้พอสมควร
“การบริหารเวลาจากนี้ โดยจะใช้สูตร 6-4, 6-4 คือ คณะกรรมการร่างฯใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน หากประชามติผ่านจะใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ต่อจากนั้นอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือน นับจากที่มีคณะกรรมการร่างฯ แต่ในบางเรื่องสามารถทำให้สั้นลงได้
ถามว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเตรียมวิธีการเพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้คิดไกลถึงขณะนั้น วันนี้ไม่คิดแง่ร้ายขนาดนั้น แต่หากถึงจุดหนึ่งต้องคิดเตรียมไว้
“ส่วนคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างฯ นั้นต้องมีความรู้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจเรื่องการเมืองและสภาพเมืองไทยในหลายมิติ ส่วนจะเอาคนที่มีแนวคิดเดียวกับ คสช.หรือไม่นั้น เขาคงไม่ถึงกับเอาคนที่มีแนวคิดตรงข้ามรัฐบาล เพียงแต่จะหาคนที่มีแนวคิดเดียวกับรัฐบาลยาก ยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องนี้ เข้าใจว่าคนที่มีหน้าที่มีการมองไว้บ้างแล้วแต่ยังไม่ถึงกับทาบทาม พอถึงเวลา คสช. ทั้งคณะต้องคุยกัน ต้องดูว่าเขาพร้อมจะมาหรือไม่ เหมือนการหาคนเป็น ครม.ที่บางคนมีภาระไม่สามารถเป็นได้ แต่ในที่สุดต้องหาจนได้ และไม่จำเป็นต้องตั้ง 21 คน เพราะประธาน 1 กรรมการไม่เกิน 20 คน
“การพิจารณาของคณะกรรมการร่างฯ อาจเอาเนื้อหาของร่างที่ถูกคว่ำไปมาพิจารณาเพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย หรือเอาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือปี 50 มาพิจารณาด้วยก็สามารถเสนอเข้ามาได้”
นั่นเป็นแนวทางคร่าวๆ รวมไปถึง “โรดแมป” ใหม่ที่ต้องเดินไปว่าจะมีแนวโน้มไปทางไหน และมีระยะเวลากี่เดือน นั่นคือ แบ่งเป็นสองขั้นตอน คือ หากนับจากกรณีที่ยกร่างจนเสร็จไปจนถึงขั้นตอนการทำประชามติ คือ ยกร่าง 6 เดือน และขั้นตอนการทำประชามติอีก 4 เดือน ต่อไปถ้าประชามติผ่านก็มาอยู่ในขั้นตอนออกกฎหมายลูก 6 เดือน ขั้นตอนการเลือกตั้งอีก 4 เดือน รวมทั้งหมดประมาณ 20 เดือน หรือเกือบสองปี
แต่นั่นเป็นโรดแมปเฉพาะกรณีที่ทำประชามติแล้วผ่าน แต่หากไม่ผ่านอีกก็ต้องมาต้องมากำหนดกฎเกณฑ์กันใหม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งฟังจาก วิษณุ เครืองาม ก็คาดว่าจะต้องมีการเสนอแก้ไขใหม่เพื่อกำหนดเอาไว้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่อาจเสนอแก้ไขไปพร้อมกับเรื่องการทำประชามติที่มีข้อท้วงติงว่าให้เป็นแบบด้วยเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ หรือว่าเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ
จากคำพูดของ วิษณุ เครืองาม ที่ว่า “มีการมองไว้แล้ว” ทำให้เข้าใจว่าเวลานี้มีการเลือกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว น่าสังเกตว่านี่คือการพูดภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งถูกคว่ำจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กันยายนผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น มันก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามี “ใบสั่ง” ให้คว่ำเพื่อที่จะยกร่างใหม่โดยที่มีรายชื่อคณะกรรมการเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องใบสั่งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะมีจริงหรือไม่ ในเวลานี้อาจไม่สำคัญแล้ว เพราะสังคมไม่ได้มีปฏิกิริยามากพอหรือมีการเคลื่อนไหวทางใดทางหนึ่งตามมา แต่ที่ต้องพิจารณากันในโรดแมป “แขนงใหม่” ก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คนที่กำหนด ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะเขาคือคนตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ซึ่งก็ต้องเลือกมาจาก “คนรู้ใจ” ดังนั้น หากเดินไปถึงขั้นลงประชามติแล้วไม่ผ่านก็ต้องรับผิดชอบ เลี่ยงไม่ได้!