xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” รับร่าง รธน.มีกรอบ-ขัดแย้ง ต่างจากอดีต ชี้ ปชต.เปลี่ยนผ่านปฏิรูปสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.กมธ.ยกร่างฯ บรรยายพิเศษรัฐธรรมนูญ ย้อนร่างฯ 40 ไม่ขัดแย้งรุนแรง ไม่มีกรอบ ต่างจากปัจจุบัน ชี้ ปชต.เต็มใบมีความขัดแย้ง ใช้รัฏฐาธิปัตย์ถึงสงบ แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ยก ปชต.เปลี่ยนผ่านทำปฏิรูปสำเร็จ แต่ รบ.เลือกตั้งไม่ทำ ชี้มี คปป.ไว้ดับไฟไม่ต้องรัฐประหาร รับได้ รธน.ผ่านไม่ผ่าน แจง กมธ.ยกร่างฯ ฟังเสียงส่วนใหญ่ ย้อนอดีตคำปรารภก็เขียนขึ้นภายหลัง ย้ำ ปชช.อย่าดูร่าง รธน.ทีละชิ้น ให้ดูภาพรวม


วันนี้ (31 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “เล่าเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญ” ในกิจกรรมสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ (วัน LO) ประจำปี 2558 จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมา 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีบรรยากาศที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากในปี 2540 ไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร และการเคลื่อนไหวทางสังคมนำมาสู่การพิจารณาลงมติเห็นชอบในสภา แต่ฉบับปัจจุบันเกิดจากบรรยากาศอยู่ในความขัดแย้งแบ่งฝ่ายมานานถึง 8 ปีเศษ มีการชุมนุมถึง 701 วัน เสียชีวิต 130 คน เสียหายกว่า 33,000 ล้านบาท จนถึงการรัฐประหารปกครองในระบอบรัฏฐาธิปัตย์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำให้เกิดความสงบภายใต้กฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ดังนั้น บรรยากาศปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 มีข้อกำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามที่ขีดกรอบไว้ จะทำตามใจชอบไม่ได้

นายบวรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาระบอบประชาธิปไตยกับความเหมาะสมของสังคมไทย 18 ปี ของประชาธิปไตยเต็มใบมีความขัดแย้งแบ่งฝ่ายอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน แก้ปัญหาไม่ได้ จึงมีการสถาปนาระบอบรัฏฐาธิปัตย์ ใช้มาตรา 44 ถึงสงบอยู่ได้ พอใช้ประชาธิปไตยเต็มใบมาก็ขัดแย้ง ใช้รัฏฐาธิปัตย์เกิดความสงบแต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ

“ถ้าเอาให้เท่ห์ต้องเป็นประชาธิปไตยจ๋า เราก็กลัวความขัดแย้งกลับมาอีก ผู้นำทางการเมืองพูดภาษาเดิม ปี 2549 เป็นยังไง ปี 2558 ก็เป็นอีก ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งก็ลงถนนมาขับไล่ สลับกันไปมา ประชาธิปไตยเต็มใบขัดแย้งจนต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ ส่วนระบอบรัฏฐาธิปัตย์สร้างความสงบแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงต้องมี 2 ช่วง ช่วงเลิกรัฏฐาธิปัตย์เรียกว่าประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้เหมาะสมกับการปฏิรูปสร้างความปรองดอง พอจบ 5 ปี ค่อยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสากล” นายบวรศักดิ์กล่าว

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่านจะสามารถทำให้การปฏิรูปสำเร็จ สมัยก่อนมีรายงานการปฏิรูปโดยคณะกรรมการชุดของ นพ.ประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่ก็เก็บไว้บนหิ้ง เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ทำ อยากให้ความขัดแย้งกลับไปเป็นเหมือนเดิม หรือจะป้องกันไม่ให้เกิดอีก 5 ปี ระยะเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่จะทำคือ 1. กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูป 2. สร้างความปรองดอง 3.หากเกิดความรุนแรงต้องยับยั้งได้ทันที โดยไม่ต้องลากรถถังออกมายึดอำนาจ จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อกำกับ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยขณะนี้

ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญและการทำงานว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน สปช.หรือไม่ผ่านประชามติหรือไม่ ตนรับได้ทั้งนั้น ผ่านก็ดีใจแต่เหนื่อยต้องทำกฎหมายลูกต่อ หากไม่ผ่านก็โล่งใจไปอยู่บ้านสอนหนังสือ ทุกสิ่งไม่มีอะไรเป็นของเรา ปลงได้ก็ไม่ทุกข์ กมธ.ยกร่างฯ ปีนี้โดนทุกรูปแบบ เป็นธรรมดาของการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อยากให้คิดให้ดีว่าใครได้ใครเสีย คิดให้ลึกซึ้งจะตอบตัวเองได้ หลายอย่างเราก็แก้ให้ตามข้อเรียกร้อง แต่ความเคลื่อนไหวทางสังคมจะมากเหมือนปี 2540 ไม่ได้ อำนาจแท้จริงขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ส่วนการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ นั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้นำแบบกลุ่ม 36 คน ตนไปลิขิตชี้ไม่ได้ ข้อสรุปต่างๆ ถ้าไม่มีใครขัดข้องก็ถือเป็นมติที่ประชุม มีการถามความคิดเห็นซาวน์เสียงเรียงคน คปป. หรือ ส.ว.สรรหาก็มีคนไม่เห็นด้วย แต่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม สู้กันด้วยเหตุผลแล้ว ส่วนประเด็นคำปรารภไม่มีนั้น พบว่าตั้งแต่ปี 2475 ก็เขียนขึ้นภายหลัง คำปรารภมีส่วนสำคัญคือเจตนารมณ์และการบรรยายเหตุการณ์ การบรรยายเหตุการณ์เขียนไม่ได้ หากไปเขียนว่า สปช.เห็นชอบ ประชามติเห็นชอบ ก็จะถูกถามว่ารู้ล่วงหน้าได้อย่างไร ในส่วนเจตนารมณ์ก็มีการจัดทำรายมาตราเสร็จแล้ว

“ผมอยากให้ประชาชนตัดสินเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของประชาชนที่จะยอมให้ใช้หรือไม่ เสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ การดูร่างรัฐธรรมนูญอย่าไปดูทีละชิ้น ให้ดูภาพรวม เหมือนดูนางงามจะไปตัดแยกอวัยวะ 32 ส่วน มาแยกดูก็ไม่สวย ให้ดูว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ 1. แก้ปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ 2. สิทธิเสรีภาพของพลเมืองก้าวหน้าขึ้นหรือไม่ และ 3. สนองความคาดหวังการปฏิรูปและการปรองดองที่คนไทยเรียกร้องมากว่า 10 ปี ได้หรือไม่”








กำลังโหลดความคิดเห็น