“อุดม” รับเป็นเกียรติได้นั่ง กรธ. ย้ำฟังเสียง ปชช.ผสานความเห็นต่างเข้าด้วยกัน พรุ่งนี้เริ่มประชุม ชี้ปรองดองเรื่องอ่อนไหว แต่ค้าน คปป. “อมร” ดีใจ รับรู้ล่วงหน้า ดูชื่อเพื่อนร่วมงานไร้ปัญหา เชื่อทำ รธน.ที่ดี เผยสมัยเป็น สปช.ศึกษาร่างเดิมทะลุปรุโปร่ง แย้มร่างใหม่ไม่ต้องลอกมา คาดปฏิรูปบัญญัติในกฎหมายลูก
วันนี้ (5 ต.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังจากที่ได้รับการตั้งแต่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ถือเป็นเกียรติที่ทาง คสช.เลือกตนให้มาทำงาน เพราะหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญ หลังจากนี้ทางตนและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เหลือก็จะต้องมีการระดมความคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายโดย กรธ.ก็จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันตนเห็นว่าประชาชนอยู่ในมุมที่แตกต่างหลากหลาย จึงถือเป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่จะต้องผสานแนวความคิดของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน ในส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตั้งเป้าหมายว่า กรธ.จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 4 เดือนนั้นต้องขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานของประธานและคณะกรรมการคนอื่นๆ ด้วยว่าคิดอย่างไร โดยในวันพรุ่งนี้เป็นการประชุมของ กรธ.ครั้งแรกก็จะมีการพูดคุยกันว่าจะมีวิธีการดำเนินงานต่อจากนี้อย่างไร
นายอุดมกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าไม่ควรจะมีเนื้อหาในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ตนเห็นว่าเรื่องการปรองดองถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวซึ่งมีการพยายามแก้ปัญหาให้คนที่คิดต่างสามารถเข้ามาอยู่ในเวทีเดียวกันได้ แต่ตนไม่เห็นด้วยที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว จะไปตั้งองค์กรในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น กรธ.จะต้องหารูปแบบหน่วยงานที่จะทำงานเรื่องการปรองดองซึ่งไม่ใช่ในลักษณะแบบนี้ด้วย
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ. และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็น กรธ.ว่า ดีใจ ที่ผ่านมารู้ล่วงหน้ามาพอสมควรว่าจะได้รับการแต่งตั้งแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ตนมีความตั้งใจที่จะทำงานร่างรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ และด้วยความสามารถ ประสบการณ์ของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมาทั้งหมดนั้น เชื่อว่าจะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี และได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติของประชาชนได้ เท่าที่ดูรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้นยอมรับว่ารู้จักกันเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกันอย่างแน่นอน
นายอมรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ตนเป็น สปช.นั้นก็ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จนทะลุปรุโปร่ง ขอขอบคุณมุมมองของผู้ใหญ่ที่ได้คัดเลือกอดีตสมาชิก สปช.เข้ามาร่วมเป็น กรธ.ในครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ได้เป็น กรธ. ก็สามารถขับเคลื่อนสิ่งสำคัญบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลักการสำคัญที่จะเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายอมรกล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ได้คุยกันเนื่องจากต้องรอการประชุมครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องคัดลอกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์มาก็ได้ เนื่องจากมีเวลาในการร่างถึง 180 วัน เป็นระยะเวลาที่มากพอ และความรอบรู้ของ กรธ. แต่ละท่าน น่าจะสร้างร่างใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ส่วนองค์ความรู้ในประเด็นการปฏิรูปนั้นมีอยู่แล้ว ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญยาวยืดเยื้อ ดังนั้นการปฏิรูปอาจบัญญัติในกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที