ช่วงนี้เรื่องการเมืองที่ดูกำลังวุ่นวายอยู่ก็คงหนีไม่พ้นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (อีกแล้ว) หลังจากร่างฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถูกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำลงไป จนต้องมีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาสานต่อตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไปถึงประเด็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ว่าจะให้ใช้ระบบใหม่ นำคะแนนของผู้แพ้ ส.ส.เขตของแต่ละพรรคไปรวมกันเพื่อแบ่งสัดส่วนในเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้คะแนนของประชาชนที่มาเลือกไม่สูญเปล่า
แต่ทางฝ่ายนักการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ แน่นอนว่าจะทำให้จำนวน ส.ส.หายไปพอสมควร บ้างก็มองว่าแล้วถ้าคนไม่ชอบพรรคแต่ชอบผู้สมัครล่ะ จะทำอย่างไร รวมถึงข้อสังเกตเรื่องพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กเป็นนอมินี อันนี้ฝั่งผู้ร่างฯ ก็ต้องไปหาวิธีเขียนให้ครอบคลุมกว่าเดิม
ส่วนตัวผมแม้จะเห็นพ้องกับคำท้วงติงที่ว่า “ชอบคนแต่ไม่ชอบพรรค” แต่มันก็น่าลองเหมือนกันนะ เดี๋ยวไม่ถูกใจก็เขียนกันใหม่ ตามแบบพี่ไทยเรา
มาถึงข้อเสนอของผมบ้าง ซึ่งมาจากส่วนหนึ่งของซีรีบรัมในสมองอันน้อยนิด อาจจะดูเขลาในสายตาผู้เจนจัดทางการเมืองไปบ้าง แต่ก็อยากให้ท่านผู้ร่างได้ลองอ่านแนวคิดเพี้ยนๆ ให้ฉุกคิดสักนิดบ้างก็คงดี
กับเรื่องที่ว่าด้วย "ที่มาของรัฐมนตรี"
ปัญหาที่ผมเห็นมาหลายรัฐบาล ก็คือ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ดูคุณสมบัติไม่เข้ากับงานนั้นๆ จนหลายๆ คนก็ถูกครหากันว่าได้รับเก้าอี้เพื่อต่างตอบแทนบ้าง หรือจัดสรรโควต้าตามพรรค กลุ่ม ก๊วน ทุน อะไรต่อมิอะไรที่เราเห็นๆ กันมา พอมาทำงานจริง ที่มีผลงานดีก็มี แต่หลายคนก็ดูแล้วเหมือนอยู่ไปวันๆ เป็นแค่ผู้รับคำสั่งรัฐบาลแล้วไปกระจายต่อยังข้าราชการ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้ในเรื่องของงานนั้นๆ มาก่อน ทำให้มีผลต่อประสิทธิภาพของงานและการจัดการปัญหาต่างๆ
เมื่อย้อนมาดูคุณสมบัติของรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญ อย่างฉบับ ๒๕๕๐ ระบุว่า ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ,อายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีบริบูรณ์ ,จบปริญญาตรีขึ้นไป ,ไม่มีลักษณะต้องห้าม ,ไม่เคยต้องคําพิพากษาให้จําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ,ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
ส่วนฉบับร่างฯ ปี ๒๕๕๘ ที่ถูกตีตกลงไปนั้น เพิ่มเติมในส่วนของการไม่ได้แสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา ๓ ปีต่อประธานวุฒิสภา ปกปิด หรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฏหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแสดงรายการเสียภาษี ,ไม่เป็น ส.ส.
ทีนี้ผมเสนอว่า มันควรมีกลไกที่สามารถคัดกรองบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งให้ตรงตามความสามารถของเขา สิ่งหนึ่งคือการเพิ่มคุณสมบัติในเรื่องอาชีพที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วย เหมือนเวลาเราไปสมัครงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เขาก็ต้องดูเบื้องต้นว่า คุณจบที่ไหน สาขาอะไร มีประวัติกิจกรรม หรือเคยทำงานที่เกี่ยวข้องที่ไหนบ้าง กี่ปี
อธิบายให้เห็นภาพก็คือ สมมุติคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ รัฐมนตรีช่วย ก็ต้องเคยเป็นข้าราชการ พนักงานราชการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี หรือ เคยเป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,ส.ท. ,ส.อบต. ,ส.อบจ. ,ส.ส. ,ส.ว. อย่างน้อย ๑ สมัย มีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันอย่างน้อย ๔ ปี
อย่างกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องเคยเป็นข้าราชการในสังกัด หรือ พนักงานบริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าของกิจการ หุ้นส่วน พ่อค้า แม่ค้า ทุกประเภทที่ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี โดยใช้หลักฐานการยื่นเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง (คาดว่าสามารถเช็กได้) เป็นเกณฑ์ ถ้าเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (จริงๆ มันควรแยกเป็นกระทรวงท่องเที่ยวและวัฒนธรรม กับ กระทรวงกีฬา นะ) นอกจากข้าราชการแล้ว ก็ยังสามารถให้ ดารา นักกีฬา ศิลปินแห่งชาติ จิตรกรรม นักเขียน นักโบราณคดี ไกด์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของกระทรวงขึ้นเป็นรัฐมนตรีได้ แต่ต้องมีประสบการณ์ในงานนั้นต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี
บางกฏเกณฑ์ เช่น วุฒิการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องระบุว่า ขั้นต่ำปริญญาตรีเสมอไป บางกระทรวงอาจจะเขียนว่า ไม่จำกัดก็ได้ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สามารถให้เกษตรกรผู้มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จเคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ขึ้นมาเป็นเสนาบดีได้ หรือ กระทรวงแรงงาน ที่เหล่าบรรดาสมาชิกสหภาพแรงงานก็มีสิทธิ์ที่จะได้เป็นเช่นกัน
แต่ ... ที่ว่ามาเนี่ย เราก็ต้องไปถามผู้ใต้บังคับบัญชาเขาด้วยนะว่า โอเคมั้ย อาจต้องเชิญปลัดกระทรวงต่างๆ มารับทราบแนวทางว่า "คุณอยากได้ผู้บังคับบัญชามีคุณสมบัติแบบไหน" แล้วก็ให้ไปปรึกษากันในที่ประชุมแต่ละกระทรวง ก่อนส่งกลับมายังคณะกรรมการร่างฯ เพื่อพิจารณา (แต่จะเห็นพ้องทั้งหมดหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง)
ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็คงจะยาวเหยียดและแก้ไขได้ยาก จึงจำเป็นต้องเพิ่ม "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มารัฐมนตรี" ขึ้นมาอีกฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมและสามารถแก้ไขให้ทันยุคสมัยได้
และถ้าจะเอาให้สุดๆ ไปเลย ก็ควรเขียนไว้ด้วยว่า ให้แต่ละพรรคที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หัวหน้าพรรคจำเป็นต้องระบุรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใน คณะรัฐมนตรี ก่อนหาเสียง เพื่อประกอบการพิจารณาของประชาชนจะได้รู้ว่า ถ้าเราเลือกพรรคนี้แล้วเราจะได้คนนี้มาเป็นรัฐมนตรีแน่นอน ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคนั้นก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ที่สมัคร ส.ส. และที่สำคัญบุคคลใช้ในการหาเสียงสามารถซ้ำกับพรรคอื่นก็ได้
สมมุติ พรรค พ.เชิญ นาย ก. เป็นผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ส่วน พรรค ป. อาจจะเชิญมาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ก็ได้ โดยที่เจ้าตัวจะต้องลงลายมือชื่อรับรองผ่านใบรายชื่อที่หัวหน้าพรรคยื่นให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้แต่ละพรรคไม่จำเป็นที่จะต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้ครบทุกตำแหน่ง แต่ถ้าพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ บุคคลนั้นจะมีสิทธิ์ได้เป็นรัฐมนตรีทันที
อันนี้น่าจะแก้ปัญหาพวกวิ่งเก้าอี้หลังเลือกตั้งได้ไปเปราะนึง โดยให้ไปลุ้นกันหน้างานแทน แต่อาจมีจุดอ่อนตรงที่หากพรรคที่คิดว่าจะมี ส.ส.เป็นอันดับ ๒ ,๓,๔ รวมตัวกันส่งรายชื่อรัฐมนตรีที่เหมือนกันทั้งหมดหรือเว้นไว้เฉพาะบางกระทรวงเป็นจิ๊กซอว์ให้ประสานกันเวลารวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ตรงนี้ก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินแล้วล่ะ
ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาตามเดิม หากใครปลอมแปลง หรือระบุข้อมูลอันเป็นเท็จก็ให้มีความผิด ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นอย่างต่ำ ๑๐ ปี และตัดสิทธิ์พรรคเดิมโดยโอนสิทธิ์ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส.มากกว่า หรือหากพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์มี ส.ส.สูงสุดก็ให้สิทธิ์แก่พรรคที่มี ส.ส.จำนวนรองลงมา ตามลำดับ
เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดแรกให้อยู่อย่างน้อย ๑ ปีครึ่ง จึงสามารถปรับเปลี่ยน ครม.ได้
ปัญหาอีกอย่างที่หลายคนกลัวกันก็คงหนีไม่พ้นผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐมนตรี โดยเฉพาะถ้าตรงสายนี่ยิ่งง่ายเลยในคอนเนคชั่นต่างๆ ที่แต่ละคนมีอยู่ สำหรับผมกลับมองว่า ยุคนี้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนล่ะ ช่องทางในการตรวจสอบมันเยอะ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมไปถึงสื่อมวลชนบางสำนักที่กัดแบบไม่เลือกข้าง ที่สำคัญชาวบ้านเดี๋ยวนี้รู้จักสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น อย่างที่เห็นๆ กัน ใครจะทำอะไรคงต้องพิสดารกว่าเดิมหน่อยล่ะ
ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ ....
เช้าแล้วเหรอเนี่ย ... แหม ... ฝันซะเยอะเชียววันนี้