ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เผยรายงานแผนปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว หวังประชาชนติดตามในรัฐบาลหน้า ยันทยอยส่งคณะรัฐมนตรีบ้าง ชี้สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ต้องกำหนดอำนาจให้ชัดเจน ไม่อยากให้มองสืบทอดอำนาจ นัดถกวิป สปช.บ่ายสองวันนี้ คุยประเด็นประชามติ ก่อนชงที่ประชุม 18 ส.ค. ให้เสนอคำถาม ก่อนใช้โหวต แต่ไม่คุยเรื่องลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วอนอย่ามอง ส.ว.สรรหาชุดแรกต่างตอบแทน สปช.ผ่าน รธน. ยันเป็นสิทธิ์ ปัดคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติสืบอำนาจ แต่แค่แก้ปัญหาช่วงที่ยังหาทางออกไม่ได้
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่รร.เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเวลา 11.30 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้สัมภาษณ์ ถึงการส่งมอบงานรายงาน ประชาชน ในเรื่องการปฏิรูปด้านต่าง ต่อรัฐบาล นั้น มีการทยอยส่งมอบคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ในวันนี้ถือว่าเป็นการส่งมอบรายงานการปฏิรูปให้ประชาชนได้รับทราบว่าเสร็จแล้วไปถึงไหน และให้ประชาชนรู้สึกว่าได้ร่วมเป็นเจ้าของ และได้รับรู้ว่าส่วนที่เป็นเรื่องของแผนการปฏิรูปนั้นได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง มีอุปสรรคอะไรต้องแก้ไข ซึ่งกลไกสำคัญที่ทาง สปช.ตระหนักก็คือประชาชน
เมื่อถามถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะเข้ามาหลังจาก สปช. ยุติบทบาทไป นายเทียนฉาย กล่าวว่า สภาขับเคลื่อนฯ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นหน้าตา แม้แต่จำนวนที่บอกว่ามี 200 คนก็ยังไม่แน่นอน ดังนั้น ตนถือว่าส่วนที่เป็นฐานสำคัญก็คือประชาชนที่เป็นเจ้าของและทำหน้าที่ติดตาม แต่ถ้าวันหนึ่งมีการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าสภาขับเคลื่อนฯมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องว่ากันอีกทีว่าหน้าที่จะเป็นอย่างไร
เมื่อถามต่อถึงเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ที่จะมามีบทบาทต่อไป นายเทียนฉาย กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน ต้องรอให้รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนถึงจะตัดสินใจได้ สำหรับเรื่องของอำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตนมองว่าเป็นช่วงที่สำคัญ ถ้าหากมีปัญหาว่าผู้ที่ดูแลประเทศในขณะนั้นไม่มีทางออกก็มีอำนาจพิเศษนี้อยู่ การกำหนดให้มีวาระ 5 ปีนั้นเป็นการยืนยันว่า 5 ปีนี้จะมีทางออกให้กับประเทศ ซึ่งนี่ก็ถือว่านี่คืออำนาจพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จำเป็น
เมื่อถามว่าการใช้อำนาจพิเศษนี้ จะทำให้ถูกตีความจากสังคมหรือไม่ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถ้ามองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเรื่องนี้ก็จบ ตนอยากให้มองย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 วันที่ประเทศไม่มีทางออก ต้องมีใครสักคนมาแก้ปัญหา ดูแล ซึ่งคนที่มาไม่ให้รัฎฐาธิปัตย์ ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร ต้องมาตามครรลองรัฐธรรมนูญ ถ้าเงื่อนไขตรงนี้มีความชัดเจน ตนว่าไม่ใช่เรื่องสืบทอดอำนาจ ส่วนบทบัญญัติเรื่องอำนาจที่ดูกว้างมากนั้น ตนคิดว่าต้องหารือเรื่องถ้อยคำให้มีความรัดกุมมากขึ้น
ส่วนเรื่องที่มีการวิจารณ์ว่า อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่จะเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ นี้ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ยังไม่รู้ แต่คิดว่าอาจจะไม่ใช่ สำหรับเรื่องของญัตติที่เสนอมา เรื่องของการทำคำถามประกอบการทำประชามตินั้น ตนคิดว่าจะมีการหารือในวิป สปช.ต่อไปในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งคาดการว่าจะมีการจัดวาระประชุมสปช.วันที่ 18 ส.ค.เพื่อพิจารณาเรื่องประเด็นคำถามนี้ โดยจะมีการหารือว่าจะเลือกคำถามใดมาใช้ประกอบประชามติซึ่งน่าจะใช้วิธีโหวตลงคะแนนเลือกคำถาม
เมื่อถามต่อว่า เรื่องของการสรรหา ส.ว. เฉพาะกาลชุดแรกจำนวน 123 คนดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปี อาจจะเป็นการรองรับ ตำแหน่ง สมาชิก สปช. ส่วนหนึ่งในขณะนี้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่าไม่รู้แต่เรื่องนี้ใครจะเข้ามาเป็นก็ได้ทั้งสมาชิก สปช.ในขณะนี้หรือจะเป็น ส.ว.เก่าก็ได้ ส่วนที่มีการมองว่าการเสนอตำแหน่ง ส.ว.นี้อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะสิ่งนี้เกิดมาทีหลัง สิ่งที่น่าคิดคือตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนฯมากกว่าเพราะเรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสำหรับประเด็นเรื่องว่าจะโหวตผ่านเรื่องผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงไม่มีการมาหารือแน่นอนเพราะ ตนเกรงว่าจะเป็นประเด็น คงจะไปตัดสินใจกันในวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งเป็นวันโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเลย