สภาพัฒนาการเมืองหนุนเลือกตั้ง นายกฯ - ส.ว. โดยตรง เสนอตัดสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ หวั่นสืบทอดอำนาจ - ทำขัดแย้ง ส่วนหมวดปรองดองออกกฎหมายต่างหากได้ เห็นด้วยจัดทำประชามติ สร้างสัญญาประชาคม
วันนี้ (27 พ.ค.) นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงข่าว “ผลการเสวนาเชิงวิชาการการสร้างความปรองดองและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ว่า สพม. เห็นควรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นของประชาชน คือ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด และ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และเมื่อครบ 2 วาระแล้ว ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกไม่ว่ากรณีใดๆ
นอกจากนี้ สพม. ขอให้ตัดบทบัญญัติว่าด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศแห่งชาติ เนื่องจากสภาพัฒนาการเมืองเห็นว่าเป็นการสืบทอดอำนาจและอาจเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมไทยมากขึ้น และให้ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมืองพิจารณาเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะสามารถกำหนดเอาไว้ในกฎหมายทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ขอให้จัดให้มีการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และให้ความเห็นเป็น “ฉันทานุมัติ” เพื่อสร้างสัญญาประชาคมร่วมกันของคนทั้งประเทศ
ด้าน นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า ในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นฯส่วนใหญ่เห็นว่าหลักการสำคัญในการสร้างความปรองดองกำหนดไว้ คือ 1. ขอบเขตของการสร้างความปรองดอง ไม่ควรจำกัดเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้นควรครอบคลุมประเด็นอื่นเช่น ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น 2. ภารกิจการสร้างความปรองดองควรทำได้เลยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้อำนาจทำได้ เช่น การค้นหาความจริงในประเด็นความขัดแย้ง แต่ต้องวางกลไกให้ต่อเนื่อง 3. ขบวนการการสร้างความปรองดอง มีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระ แต่ต้องเป็นชั่วคราว เมื่อแก้ปัญหาเสร็จแล้วก็หมดสภาพไป การตั้งสำนักงานต้องสอดคล้องในรูปแบบไม่เป็นถาวร 4. แนวทางการบัญญัติเรื่องการสร้างความปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความเห็นคือเห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดทำ แต่ต้องคิดให้รัดกุมรอบคอบเพื่อให้เกิดผล เช่น การคุ้มครองพยาน