“สปช.บุญเลิศ” เผยยื่นแก้ร่างรัฐธรรมนูญในนามส่วนตัวไปด้วย ขอคงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตัด กก.ยุทธศาสตร์ และ คอป.ทิ้ง แนะเขียนบทเฉพาะกาล นิรโทษกรรมผู้ร่วมม็อบตั้งแต่รัฐประหารปี 49-57 ที่ไม่ผิดอาญาร้ายแรง เว้นคดี ม.112 และแกนนำ ยันไม่ได้สืบทอดอำนาจ แต่สานงานต่อ
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า ได้ยื่นเอกสารขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในนามส่วนตัวแนบท้ายไปกับคำขอแก้ไขชุดของกรรมาธิการการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากข้อเสนอของตนไม่ได้รับการบรรจุไว้ในคำขอแก้ไขประเด็นที่เสนอเกี่ยวกับกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองที่ให้ไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล และรวมการปฏิรูปกับการสร้างความปรองดองมาอยู่ด้วยกัน เพราะถ้าสังคมมีความแตกแยกไม่ปรองดองก็ไม่มีทางที่จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ
นายบุญเลิศกล่าวว่า ข้อเสนอของตนให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ไม่เกิน 120 คน คัดเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลงานอันที่ประจักษ์ เชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นสมาชิก สปช. หรือ สนช. และให้ตัดคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติออกไป ส่วนอำนาจหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามที่กรรมาธิการยกร่างฯ เคยเสนอไว้ เช่น การเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ต่อวุฒิสภา ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป รวมทั้งการดำเนินการให้เกิดการปรองดอง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่มีแรงจูงจางการเมือง เป็นต้น
นายบุญเลิศกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเสนอให้เขียนบทเฉพาะกาลให้นิรโทษกรรมผู้เกี่ยวเนื่องจากการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 49 ถึง 22 พ.ค. 57 ไม่ใช่คดีอาญาร้ายแรง ไม่ใช่คดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยไม่ครอบคลุมแกนนำที่เป็นผู้สั่งการในที่ชุมนุม ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจำกัดแต่เฉพาะประชาชนจากทุกสีเสื้อ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ, กลุ่ม นปช., กลุ่ม กปปส. และอีกหลายกลุ่ม หลักการนี้เคยได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากนักการเมือง แกนนำผู้ชุมนุมทุกฝ่ายจนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภา แต่ก็ไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ ทำให้ประชาชนถูกตั้งข้อหา ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังขณะนี้จำนวนมาก
“ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เราต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะสภาขับเคลื่อนไม่มีอำนาจปกครองประเทศ ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เป็นการสานงานการปฏิรูปและความปรองดองที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งจะยังมุ่งหักโค่น ยื้อแย่งอำนาจแล้วสร้างความเดือดร้อนถึงชาวบ้านและประเทศชาติอีกหรือไม่ นอกจากนี้ การให้มีสภาขับเคลื่อนยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 (9), (10) ที่บัญญัติให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญและกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์” นายบุญเลิศกล่าว