xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งส่งตัวคนไทยจัดหาอาวุธให้กลุ่มกบฏไปดำเนินคดีที่อินเดีย ทนายจำเลยเผยเตรียมส่งหนังสือร้องถึงนายกฯ ให้ทบทวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTV ผู้จัดการ - ศาลอุทธรณ์ให้ส่งตัว “วุฒิกร หรือวิลลี่ ” คนไทยเจ้าของธุรกิจสปาจัดหาอาวุธช่วยกลุ่มกบฏต้านรัฐบาลอินเดีย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่อินเดีย ด้านทนายของจำเลยเตรียมพร้อมยื่นเอกสารถึงนายกฯ เพื่อขอการพิจารณาทบทวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในครั้งนี้



ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 4 พ.ย. 2558 ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หมายเลขดำ อผ.8/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวุฒิกร หรือนายวิลลี่ นฤนาถวานิช (Willy Naruenartwanich) สัญชาติไทย อายุ 58 ปี เจ้าของธุรกิจสปา และเครื่องสำอาง เป็นจำเลย เพื่อขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐอินเดีย

ตามคำร้องอัยการระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทย ได้กระทำผิดข้อหาคบคิดเพื่อกระทำความผิดทางอาญา และสะสมอาวุธ และอื่นๆ โดยเจตนาก่อสงครามที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอินเดีย เป็นความผิดที่มีโทษเทียบกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114, 135/1-3 และมาตรา 210 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดทางการเมือง หรือมีลักษณะในทางการเมือง อีกทั้งคดียังไม่ขาดอายุความ เนื่องจากเป็นคดีเร่งด่วนตาม 10 แห่งสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกรณีเร่งด่วน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 10 โดยคำร้องนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐอินเดียต่อไป

ขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 ให้คุมขังนายวุฒิกร เพื่อรอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดี ที่สาธารณรัฐอินเดีย ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว พร้อมยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 ส.ค. และ 1 ก.ย. 2558 ระบุว่า มีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำผิดในการสะสมอาวุธสงคราม โดยเอกสารจากกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล และได้ยุติการสอบสวนคดีดังกล่าว ซึ่งจำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารหลักฐานใหม่และไต่สวนพยานเพิ่มเติม

โดยวันนี้ศาลเบิกตัวนายวุฒิกร หรือวิลลี่ จำเลยซึ่งถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า กรณีที่นายวุฒิกร ผู้ถูกร้อง ขอให้พิจารณาไต่สวนพยานเพิ่มนั้น ศาลเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนกองปราบปรามพิจารณาความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีการดำเนินตามขั้นตอน จึงให้ยกคำร้องดังกล่าว

ส่วนประเด็นที่จะให้ขังนายวุฒิกร ไว้เพื่อรอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐอินเดีย ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน แต่ในการไต่สวน มีนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศ, นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีอัยการสำนักต่างประเทศ เบิกความถึงขั้นตอนทางการอินเดีย โดยเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ยื่นคำร้องตั้งแต่ปี 2554 ขอความร่วมมือในการติดตามตัวนายวุฒิกร ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 19 และ 21 ผ่านวิถีทางการทูต โดยมีเงื่อนไขดำเนินการลักษณะต่างตอบแทนต่อกัน ขณะที่ทางการอินเดีย ก็มีนายตำรวจอาวุโสที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีกบฎดังกล่าว มาเบิกความว่า ในการสืบสวนพบว่า นายแอนโธนี่ ซิมเรย์ ได้ติดต่อซื้ออาวุธจากบริษัทในประเทศจีนโดยมีนายวุฒิกร ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ประสานติดต่อสั่งซื้อผ่านอีเมล มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายแอนโธนี่ได้ เมื่อสอบสวนมีข้อมูลหลักฐานว่า ได้ติดต่อซื้ออาวุธโดยชำระเงินแล้ว 800,000 เหรียญสหรัฐแบ่งเป็น 3 งวด และ มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินของบริษัทค้าอาวุธในประเทศจีนจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีการดำเนินคดีนายแอนโธนี่ นายวุฒิกร และผู้ร่วมอีก 2 รายต่อศาลในสาธารณรัฐอินเดียแล้ว

ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวผู้ถูกร้อง ฐานสะสมอาวุธของกฎหมายอินเดีย เทียบได้กับกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114, 135/1-3 และ 210 ที่อัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี อีกทั้งฟังได้ว่าคดีมีมูลเพียงพอที่จะรับคดีไว้พิจารณาหากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาว่าจะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ขัง นายวุฒิกร เพื่อรอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีตามคำร้องขอ ของสาธารณรัฐอินเดีย ภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีตัวแทนทางการอินเดียร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วย ขณะที่ฝ่ายนายวุฒิกรมีญาติและทนายความพร้อมฟังคำตัดสิน ภายหลังนายนคร ชมพูชาติ ทนายความของนายวุฒิกรกล่าวว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ถือว่าทางคดีสิ้นสุดตามคำสั่งศาล เพราะไม่อาจยื่นฎีกาได้อื่น แต่ทั้งนี้ตน พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว ไม่เกินวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) จะยื่นหนังสือถึง พ.ล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย เพื่อให้ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 22 ทบทวนการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพราะตามกฎหมายนอกจากให้ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว การส่งตัวยังให้รัฐบาลไทยเห็นชอบด้วย

“การยื่นหนังสือก็จะระบุหากจะมีการดำเนินคดีขอให้ดำเนินกระบวนการในประเทศไทย เราไม่ปฏิเสธกระบวนการต่อสู้คดี แต่เป็นห่วงการดำเนินคดีในต่างประเทศที่มีปัญหาทั้งภาษา และกระบวนการยุติธรรมที่ระบบไม่เหมือนกัน” ทนายความจำเลยระบุ

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น