xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อก"111-109"ลงสมัครส.ส.ได้ ชี้ขาดกรณียิ่งลักษณ์วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้พิจารณา ร่างรธน.ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.เสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 27พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลักการสำคัญส่วนใหญ่ยังคงไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เช่น ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องไม่เคยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้นกรณีความผิดในคดีลหุโทษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรธ.ได้เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามบางประการเข้าไป เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการร่างรธน. ตามรธน.ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ เช่น การไม่ให้ผู้เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีสิทธิสมัคร ส.ส. แม้ว่าจะได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินก็ตาม เพราะกรธ.เห็นว่า คุณสมบัติของนักการเมืองระดับชาติควรต้องถูกยกระดับมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอื่น
นอกจากนี้ ยังกำหนดอีกว่า ผู้ที่เคยต้องคําพิพากษา หรือคําสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม จะไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. เช่นกัน
แหล่งข่าวจาก กรธ. เปิดเผยว่า มี กรธ.หลายคนได้สอบถามในที่ประชุมว่า หากกำหนดลักษณะต้องห้ามเช่นนั้น จะทำให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และได้รับโทษจนครบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว (พวกบ้านเลขที่ 111และ109 ) จะสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายเลขานุการชี้แจงว่า มีสิทธิสมัครได้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวการในการกระทำผิดทุจริตเลือกตั้ง หรือได้ใบแดง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีความผิดฐานทุจริต จะไม่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส. อย่างเด็ดขาด
ส่วนเรื่องการไม่ให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้รับสิทธิสมัครส.ส.นั้น ทาง กรธ. ยังคงหลักการในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แต่ที่ประชุม กรธ.ไม่ได้มีการอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่า กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนนั้น จะสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การประชุมกรธ.ในวันนี้ ( 30 พ.ย.) จะดำเนินการดูถ้อยคำทั้งหมดอีกครั้ง และอาจเตรียมแถลงต่อสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวต่อไป
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณี กรธ.จะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้งว่า เท่ากับยิ่งทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะระบบการถ่วงดุลที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือการที่จะให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่วันนี้กำลังสวนทางกับสิ่งที่กำลังจะเป็น
นอกจากนี้ การโอนอำนาจการถอดถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และถ้ามีปัญหาไปให้ไปที่ศาลฎีกา ก็เท่ากับขัดหลักประชาธิปไตย เพราะตามหลักสากลแล้ว อำนาจการถอดถอน เป็นของรัฐสภา เพราะถือว่ารัฐสภามาจากประชาชน มีอำนาจถอดถอนทั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ คือ มักจะเริ่ม และสิ้นสุดที่รัฐสภา แต่เมื่อ กรธ. มาออกแบบอำนาจถอดถอนไปให้ตุลการ มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดสัมพันธ์ 3 อำนาจครั้งใหญ่ ขาดการถ่วงดุล เมื่อตุลาการมาจัดการกันเอง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลอย่างมากในครั้งนี้ มันกำลังกลายเป็นก้าวใหญ่ ในการเพิ่มบทบาทของสิ่งที่เรียกกันว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ซึ่งเริ่มนำมาใช้ก่อนปี 49 ทำให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทจัดการฝ่ายการเมือง และได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองแล้ว ยังทำให้การเมืองยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมการเมืองเอง เนื่องจากฝ่ายตุลาการเข้ามาพัวพันกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป และกำลังทำให้ฝ่ายตุลาการที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน มีอำนาจสูงสุดกว่าอำนาจอธิปไตยทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น