xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงแนวคิดนำร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย” มาปรับใช้ ตัวแปรอยู่ที่คะแนนประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ย้ำคะแนนประชามติตัวแปร หากเสียงไม่รับร่างฯ แพ้น้อย อาจพิจารณานำร่าง รธน.มาปรับแก้ประเด็นที่ยังติดใจแล้วประกาศใช้ เหตุหากไปหยิบฉบับใดมาใช้อาจยุ่งยากในการทำความเข้าใจ แต่ร่างฉบับ “มีชัย” นำของปี 40 และ 50 มาใส่ไว้แล้วครึ่งหนึ่ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังได้ข้อสรุปจากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ว่าขณะนี้ยังไม่ได้นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

ส่วนประเด็นที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จะเป็นในเรื่องทำอย่างไรให้การออกคะแนนเสียงมีความชัดเจน การปรับลดหลักเกณฑ์แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ครบ 80 เปอร์เซ็นต์ และอาจต้องทบทวนว่า จะยังให้มีประเด็นแถมถามประชามติในเรื่องอื่นๆ อีกหรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนกฎระเบียบ กกต.ในการลงประชามติ ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย แต่จะออกมาเป็น พ.ร.บ., พ.ร.ก.หรือมาตรา 44 ตรงนี้รัฐบาลตัดสินใจเอง

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนบัตรลงคะแนนขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ที่หารือกันเบื้องต้น อาจจะมีแค่ 2 ช่อง คือ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือมีช่องไม่ประสงค์ลงประชามติด้วยก็ได้ กกต.ต้องไปออกรูปแบบบัตร แต่ความจริงส่วนของการงดออกเสียงก็ไม่ได้นำมาคิดอยู่แล้ว เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่หากประชามติไม่ผ่าน เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ นายวิษณุกล่าวย้อนถามว่า “คุณเสียดายไหมล่ะ แต่เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมสูญเสียเงิน”

นายวิษณุกล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่าตนระบุว่าหากประชามติไม่ผ่านจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ กรธ.ขึ้นมาแล้วปรับปรุงใช้นั้น ตนไม่ได้ยืนยันอย่างนั้น แต่เป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าทำไมไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไปคราวเดียวกันเลย หากไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร ตนบอกว่า หากแก้ในคราวเดียวกันก็ได้ หรือรอความที่ชัดเจนก่อนเพราะมันมีตัวแปรประกอบการพิจารณาอยู่ว่าถ้าหากค่อยแก้ไม่ได้เสียหายอะไรเพราะใช้เวลาไม่นาน ตรงกันข้ามอาจเกิดข้อดี เพราะถ้าเอารัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มาเปรียบเทียบ พอดีพอร้ายเลยต้องมาทำความเข้าใจรณรงค์ ยุ่งไปกันใหญ่ เกิดอคติ ลำเอียงขึ้นได้ในการลงประชามติ ถึงยังไม่เปิดเผยว่าจะทำอย่างไร

นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านจะหยิบฉบับไหนมาใช้ ถ้าบอกไปเอาฉบับนั้นฉบับนี้ ขณะที่เวลานี้ก็มีการมาพูดกันแล้วว่าฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดีกว่าฉบับ กรธ.แล้ว หรือหยิบฉบับ กรธ.มาปรับแก้ไข ก็เกิดคำถามว่าหยิบมาทำไมเมื่อไม่ผ่านแล้ว ดังนั้น ช่วงเดินหน้าประชามติไม่ควรเพิ่มประเด็นขัดแย้งในสังคม ลำพังว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ขัดแย้งกันแย่อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทน

“ความจริงไม่จำเป็นต้องเอาฉบับไหนมา เพราะจริงๆ แล้วฉบับของนายมีชัยนั้นครึ่งหนึ่งก็เอามาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 นั่นแหละ ไม่มีใครคิดประดิษฐกรรมอะไรขึ้นมาใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด”

นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ คะแนนเสียงประชามติก็เป็นตัวแปรตัวหนึ่งให้คิดว่าถ้าไม่ผ่านแล้วทำอย่างไร เพราะถ้าคะแนนเสียงผ่านมันมากเกินครึ่งก็จบ แต่ถ้าไม่ผ่านโดยคะแนนไม่มาก ก็ต้องแปลผลว่า คนเห็นด้วยกับร่างนั้นอยู่ไม่ใช่น้อย และกำลังคิดว่าที่เขาไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย แล้วเรารับฟังความเห็นคนก็ได้ อ่านจากหนังสือพิมพ์ก็รู้ที่ไม่ผ่านติดใจประเด็นใด ก็แก้ประเด็นนั้นเสีย จะแก้ให้กลับไปเหมือนปี 40 หรือ 50 ก็แล้วแต่ คะแนนประชามติจะเป็นตัววัด ซึ่งไม่ใช่ถึงขนาดที่ว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ขึ้นมาใช้แน่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น