xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย “มีชัย” ขอคิดก่อนนั่ง ปธ.กรธ. หนุนเปิดเวทีฟังความเห็นต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยพบบางคนที่คัดนั่ง กรธ. แย้มได้เยอะแล้ว ต่างคนต่างมีเงื่อนไข รับนักกฎหมายรุ่นใหม่มีในข่าย คุย “มีชัย” แล้วขอคิดก่อน แจงคณะวิเคราะห์ร่าง 58 เก็บข้อมูลปัญหาไม่เป็นทางการ หนุนตาม “สุดารัตน์” เปิดเวทีฟังเห็นต่างลดตึงเครียด ชี้ปรองดองปรบมือข้างเดียวไม่ได้ ตอนนี้ยัง “อาฟเตอร์ช็อกของการยึดอำนาจ” ไม่ปกติ ขอเห็นใจให้เวลา เปรียบอยู่โรดแมประยะ 2 ยังไม่เรียบร้อย

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาบุคคลมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คนว่า ได้พบกับบางคนแล้ว ถ้าพูดจริงๆ ก็ได้เยอะแล้ว โดยเยอะกว่าก่อนหน้านี้ที่ตนบอกคราวว่ายืนรอบนท่า 4-5 คนแล้ว วันนี้ได้มากขึ้นหลายคนซึ่งบางคนยังมีเงื่อนไขซึ่งกันและกันอยู่ เช่น หลายคนถามว่าใครเป็นประธาน ถ้าคนนั้นเป็นประธาน กรธ.ไม่เอา ถ้าคนนั้นเป็นประธาน กรธ.เอา อย่างนี้มีบ้าง รวมถึงขอรอเคลียร์คุณสมบัติ และบางคนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเร่งรัด ต้องเร็ว เขาก็ต้องไปคิดว่าเวลาเขามีพอไหม ทำแบบเอ้อระเหยพอทำได้บ้าง ถ้าต้องเร่งรัดเขาก็ต้องไปคิดว่าเขามีเวลาพอไหม ถ้ารีบก็ต้องเห็นใจ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องลาออกจากงาน

เมื่อถามว่า มีนักกฎหมายรุ่นใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นักกฎหมายรุ่นใหม่หมายถึงอายุหรือเพิ่งจบมา หรือที่ไม่มีชื่อเสียง มีการทบทวนนักกฎหมายรุ่นใหม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายจะรับหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง คุยกันแล้วแต่ก็มีเงื่อนไข อย่างนายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีต กมธ.ยกร่างฯ ก็เป็นคนเก่ง แต่ความเก่งก็ต้องคิดอะไรหลายอย่าง เก่งโดยความรู้ที่มี กับเก่งโดยประสบการณ์ เราต้องการมาผสมกัน การทาบทามไม่ใช่ตนคนเดียว คนอื่นก็ไปทาบทามเช่นเดียวกัน หัวหน้า คสช.เป็นคนเลือก จะบอกว่าพวกไหนมากคงไม่ได้ และที่ไปทาบทามมาก็มีผู้หญิงด้วย

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าจะไปทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.ได้ทาบทามแล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า เลยขั้นทักทายไปแล้ว ตนคุยกับนายมีชัยแล้ว “ท่านบอกว่าขอคิดก่อน เพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่อยากเข้ามาอยู่ในความวุ่นวายพวกนี้” เมื่อถามว่าที่นายมีชัยบอกว่าขอคิดก่อน ท่านขอเวลาคิดไปถึงเมื่อไหร่ นายวิษณุตอบว่า “ท่านมีชัยถามว่านายกฯ กลับเมื่อไหร่ ผมบอกกลับคืนวันที่ 1 ต.ค. ท่านบอกยังมีเวลา เอาไว้ตอนนั้นพูดกัน” ผู้สื่อข่าวถามว่าอาจจะตัดสินใจคืนวันซินเดอเรลล่าพอดี นายวิษณุตอบว่า“ใช่ ไม่อย่างนั้นรถม้าจะกลายเป็นฟักทอง” เมื่อถามว่า แสดงว่าคืนวันที่ 1 ต.ค.จะได้คำตอบจากนายมีชัย นายวิษณุกล่าวว่า อย่าไปคาดคั้นขนาดนั้นเลย วันที่ 29-30 ก.ย.อาจจะได้คำตอบแล้วก็ได้ ซึ่งนายกฯ กลับต้องมีคำตอบให้แล้ว

เมื่อถามว่า หากนายมีชัยตอบรับตำแหน่งประธานกรธ.จะต้องลาออกจากเป็นการสมาชิกคสช.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ได้คิดไปถึงเรื่องนั้น ถ้าถามถึงความจำเป็น หรือเงื่อนไขของกฎหมายมันไม่มี สุดแท้แต่นายมีชัย

นายวิษณุกล่าวถึงคณะทำงานวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ว่า คณะทำงานชุดนี้เมื่อทำการวิเคราะห์เสร็จก็จบหน้าที่ ไม่มีหน้าที่อื่นต่อ คณะทำงานชุดนี้ไม่มีเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือเบี้ยเลี้ยงการประชุม แต่ละคนเป็นผู้หลักเป็นใหญ่ ทำงานอื่นอยู่ จะเอาท่านมานั่งคิดเรื่องอื่น เหมือนไปหลอกท่านมา กวักมือให้มาทำเรื่องหนึ่ง อยู่ไปเรื่องนั้นจบให้ทำงานอื่นต่อมันคงไม่ได้ ผลวิเคราะห์ที่ได้ถือเป็นเรื่องประโยชน์ภายใน ไม่ถึงกับเป็นทางการ เพราะว่าถ้าพูดไปต้องมีคนพูดโต้ตอบแน่ แค่เป็นข้อมูลเอาไว้ทราบเพื่อแก้อะไรบางอย่างเท่านั้น เมื่อถามว่า เอาไว้เป็นข้อมูลในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น มันไม่ได้ถามไปถึงว่าเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร เพราะตรงนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คนต้องไปทำเอง ตรงนี้เพียงดูว่าปัญหาร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน บางเรื่องเป็นปัญหาทางความรู้สึก คืออย่างไรถ้าพวกนี้ทำก็ไม่ชอบ คสช.เกี่ยวข้องก็ไม่ชอบ บางเรื่องเป็นปัญหาทางการเมืองคือไม่อยากให้ คสช.อยู่นาน อย่างนั้นเอามาเป็นสาระไม่ได้ บางเรื่องเป็นปัญหาทางนิติศาสตร์ที่ไม่พอใจเนื้อหา พยายามสุ่มหาความคิดเห็น

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย อยากให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังให้ผู้เห็นต่างสองฝ่ายแสดงความคิดเห็น เพราะเห็นว่าการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่ใช่สร้างความปรองดองได้ว่า เป็นข้อเสนอหนึ่งเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช.คงได้ยินแล้วและคงนำไปพิจารณาว่าจะผ่อนคลายอย่างไรได้หรือไม่ในภาวะนี้ เพราะมีกฎกติกาอะไรบางอย่าง ตนได้พูดมาตลอดเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการประชามติ ต้องผ่อนคลายความตึงเครียดลงเพื่อสนับสนุนบรรยากาศให้มีการพูดจาและจะได้บรรยากาศความปรองดองมาด้วย คนเราถ้าได้มีโอกาสได้พูดกันดีกว่าทะเลาะกัน หรือแม้แต่การที่ คสช.เชิญอดีตนักการเมืองไปปรับมโนคติ ปรับทัศนคติ ก็มีการรวบรวมรายงานหัวหน้า คสช. และถ้าเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลก็จะมีการกรองส่งให้ซึ่งเคยส่งมาให้รัฐบาลเป็นครั้งเป็นคราว และนายกฯ จะมีโน้ตเล็กๆ ว่าให้รองนายกฯ คนนั้นคนนี้รับทราบ บางเรื่องก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ถ้าอะไรเป็นประโยชน์ทางการเมือง นายกฯ ก็จะส่งมาที่ตน แต่สุดท้าย คสช.เป็นเจ้าของเรื่อง

เมื่อถามว่า คสช.และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้เป็นเวลาปีครึ่งแล้ว ทำไมยังปรองดองไม่ได้ นายวิษณุกล่าวว่า “ทุกอย่างมันต้องปรบมือสองข้าง ทำข้างเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วยกันหลายฝ่าย ภาคประชาชนทำข้างเดียว รัฐไม่ตอบสนองก็ไม่ได้ ภาครัฐทำลงไปเอกชนไม่ตอบสนองก็ไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลพูดมาตลอด เริ่มต้นขอให้นึกก่อนว่าอาจจะนึกเผลอไปว่าดูบรรยากาศประเทศไทยดูดี แต่ทำไมยังขัดแย้ง ต้องเข้าใจก่อนว่าบรรยากาศขณะนี้อยู่ในช่วงที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ไม่ปกติต่อให้ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ถ้ามันปกติก็เลือกตั้งไปนานแล้ว คำว่าไม่ปกติไม่ได้หมายความว่ายังตีกัน แต่หมายความว่าสิทธิเสรีภาพทั้งหมดยังไม่สามารถจัดให้ได้อย่างเต็มที่ เหมือนสมัยก่อนได้ เพราะยังเป็นบรรยากาศการอาฟเตอร์ช็อกของการยึดอำนาจ เพราะฉะนั้น ต้องเห็นใจผู้ที่ยึดอำนาจมาว่าต้องการอำนาจ ต้องการเวลา เขายังต้องการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง”

นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าพูดภาษาแบบนายกฯ คือ ยังอยู่ในโรดแมประยะที่ 2 ยังไม่ถึงขั้นโรดแมประยะที่ 3 ซึ่งขั้นที่ 3 ก็คืนไปหมดแล้ว คือ การทำประชามติ เลือกตั้ง โรดแมประยะที่ 1 เป็นเรื่องของ คสช.คือรัฐบาล และรัฐบาลคือ คสช. พอถึงวันที่ 22 ก.ค.กลายเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ คสช.เขียนซึ่งขณะนี้เราอยู่ช่วงนั้น และต่อจากนั้น 20 เดือน ในสูตรโรดแมป 6-4 - 6-4 หรือจะสั้นกว่านี้ เหลือ 11 เดือนสุดแท้แต่ มันก็จะเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 คือ รัฐบาลตัวแทนประชาชน เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้นจะมาคาดหมายทุกอย่างจะต้องกลับสมัยก่อน คสช.เข้ามามันคงไม่ได้ เพราะถ้าได้ต้องตอบว่า คสช.มาทำไม ทำไปสนุกๆ อย่างนั้นหรือ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญกับสิ่งที่ถามว่าวันนี้ไม่สามารถ ยังไม่สงบเรียบร้อยอะไรได้ และไม่มีใครจะตอบได้ว่าจะต้องเรียบร้อย แต่ต้องเรียบร้อยทั้งสองฝ่ายซึ่งบรรยากาศที่สงบเรียบร้อยทุกคนอยากเห็น รัฐบาลก็อยากเห็นเหมือนกัน ประชาชนก็อยากเห็น

นายวิษณุกล่าวว่า ความไม่ผ่อนคลาย การกดดันมันมาจากหลายฝ่าย ถึงใช้คำว่าปรบมือทั้งสองข้าง ถ้าปรบมือข้างเดียวมันไม่ดัง พยายามพูดจา ขอร้องกัน การแสดงความคิดเห็นทำได้ เหตุที่ทำได้ไม่ใช่เพราะว่าบ้านเมืองปกติ แต่ที่ทำได้เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 คสช.บอกว่าหลายอย่างให้ทำได้ แต่ทุกคนต้องระงับยับยั้ง ไม่ยั่วยุจนเกินไป ทำให้บรรยากาศมันดีหน่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น