รายงานการเมือง
ใช้โควตาเงื่อนเวลาตามโรดแมปเต็มทุกรอบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แม้กระทั่งเรื่องการแต่งตั้ง 21 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ 200 สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังดันทุรังเอาจนครบ 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด ไม่รีบมี กรธ.เพื่อมาจะต้องนับหนึ่ง 180 วัน อย่างน้อยช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสภาพ คือวันที่ 6 ก.ย. ถึง 6 ต.ค. ทำให้ คสช.ได้ยื้อเวลาออกไปตั้ง 30 วัน เรียกว่าเล่นกันทุกเม็ดทุกดอกที่มีประตูให้
กรณีซือแป๋กฎหมาย มีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. ที่ข่าวออกมาว่า “บิ๊กตู่” ต้องงอนง้อหนักให้มาเป็นประธาน กรธ.คุมหางเสือเรือแป๊ะให้ ไปๆ มาๆ เอาเข้าจริงนายมีชัยไม่ได้เล่นตัวอะไรมากมาย เซย์เยสไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แต่ที่ต้องงึกๆ งักๆ น่าจะเป็นคิวลากยาวใช้เต็มโควตา 30 วันเสียมากกว่า ให้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ ตกลงเงื่อนไขกันว่าจะทำอะไรบ้างในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ หนักไปทางพิธีกรรม
ส่วน กรธ.อีก 20 คน หนนี้เน้นคนรับเงื่อนไขแป๊ะได้ นั่นคือ 1. นายกฯ คนนอก 2. ส.ว.สรรหา 100 เปอร์เซ็นต์ และ 3. สำคัญมากต้องมีองค์กรหรือคณะกรรมการลักษณะเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขณะเดียวกัน ต้องสบายใจที่จะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี เหตุนี้ กรธ.20 คน ภายใต้การนำของมีชัยจึงไร้เงานักการเมือง ส่วนใหญ่เป็นทหาร นักวิชาการ ข้าราชการ อดีตข้าราชการ ที่บางชื่ออาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของสังคมเท่าไหร่ แต่เป็นพวกที่รู้มือกันดีในวงการ
ใน กรธ.20 คนไม่นับรวมตัวประธานอย่างมีชัย คละเคล้ากันมาจากหลายทิศทาง ส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีชัยเลือกมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกส่วนมาจากที่ “เนติบริกรรุ่นน้อง” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กริ๊งกร๊างต่อสายไปหาให้มาช่วยงาน ตลอดจน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ไม่มีแหกเหล่าเอาพวกข้าวนอกนามาผสมให้ดูดี เพราะงานนี้โควตามีแค่ 21 คน ไม่เหมือน กมธ.ยกร่างฯ ที่มีถึง 36 คน ต้องคัดเนื้อๆ เน้นๆ ประเภทเคมีตรงกัน หรือเคยร่วมงานกันมาไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ปลาหลงน้ำซ้ำสอง รอบนี้ไม่มีเวลาให้แก้ตัวมาก แป๊ะพิศวาสใคร่อยากอะไรต้องปรนเปรอให้เป็นไปตามพิมพ์เขียว ที่คนในรัฐบาลประสานเสียงตรงกันว่า ต้องมีโดยเฉพาะ คปป. สายล่อฟ้าของรอบที่แล้ว ที่ทำเอาน้องรักของมีชัย อย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถึงกับกระอักเลือด
เลยวันที่ 6 ต.ค.นี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีชัย หัวหน้าทีมคนใหม่จะต้องเริ่มบริกรรมคาถากันแล้ว โดยมีเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน ในการยกร่าง หากนับจากนี้ประมาณเดือนมีนาคม ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคลอดออกมาให้เห็นหน้าเห็นตา ว่าดูดีหรืออัปลักษณ์หนักกว่าฉบับมหาปราชญ์ของ “อ.ปื๊ด” หรือไม่ ยกเว้นจะมีการมุบมิบแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกรอบ เพื่อต่อเวลาให้กรธ.โดยอ้างว่า ต้องมีความละเอียดรอบคอบก่อนทำประชามติกันอีก ใครจะไปรู้ใจแป๊ะได้อย่างคราวที่แล้วก็ที
นาทีนี้คนที่อยากเอาตีนก่ายหน้าผากมากที่สุดคงชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาอุตส่าห์บ่ายเบี่ยงไม่รับตำแหน่งใดมาสารพัด พยายามจะถนอมเนื้อถนอมตัว ทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า แต่ครั้งนี้จวนตัวเพราะแป๊ะเล่นหักคอแกมบังคับให้มารับเผือกร้อน ไม่มีทางเลือกอื่น และไม่รู้จะบ่ายเบี่ยงไปทางไหน เพราะดันหลวมตัวมาลงเรือแป๊ะตั้งแต่แรก ตลกร้ายยกร่างฯ ครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอีกด้วย
กระนั้นการไม่เป็นตัวของตัวเองยังไม่หนักหนาสาหัสเท่าไหร่ เพราะมีชัย วิษณุ และบวรศักดิ์ สามพี่น้องถนัดในงานเนติบริกรมาแต่อ้อนแต่ออก ผ่านร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาไม่รู้กี่ฉบับต่อกี่ฉบับ เล่นแร่แปรธาตุ มีกลวิธีการเขียนแบบพิลึกพิลั่นหาตัวจับได้ยากอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่ของมีชัย หนนี้คือเมื่อยกร่างฯ เสร็จแล้ว จะต้องเอาไปทำพิธีกรรมฟังเสียงประชาชนในการทำประชามติ เพื่อตัดสินว่าร่างนี้ดีพอที่จะไปประกาศเป็นกติกาของประเทศฉบับใหม่หรือไม่
ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่
เพราะตลอดชีวิตของมีชัย ตั้งแต่มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2521 ไม่เคยต้องมีการทำประชามติฟังเสียงประชาชนเลยสักครั้ง เฉลี่ยแล้วเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่ หรือต่อให้เป็นฉบับถาวร หากเข้าไปร่วมก็ประกาศใช้ได้เลย แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เขาเป็นตัวผลักดันให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ไม่ได้ผ่านการทำประชามติ ทว่า หนนี้มีชัยไม่มีทางเลือกอื่นเลย ต่อให้เขียนดีเลิศประเสริฐศรีสมยี่ห้อ แต่หากประชาชนส่ายหน้า อาจถึงเสียคนตอนแก่ได้เหมือนกัน
บวรศักดิ์ เนติบริกรรุ่นน้องของมีชัย รับรู้ความรู้สึกนั้นดี และอาจจะเจ็บยิ่งกว่าเสียด้วย เพราะไม่มีโอกาสแม้กระทั่งทำประชามติ แต่กลับถูกแป๊ะตลบหลังคว่ำตั้งแต่ในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างไรก็ดี สำหรับ มีชัย หากเอ่ยถือชื่อนักกฎหมายระดับอ๋องในประเทศไทย 1 ใน 2 ย่อมมีเขาอยู่ในความคิดของทุกคน แต่หากไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้ประชาชนยอมรับได้ ชื่อเสียงบารมีที่สั่งสมมาอาจจะพังก็เพราะแป๊ะ
เดิมพันของมีชัยสูงมาก เพราะสิ่งที่แป๊ะต้องการอาจไม่เป็นที่แฮปปี้ของนักประชาธิปไตย และนักเลือกตั้งเท่าไรนัก และหากต้องนำสิ่งที่แป๊ะต้องการมาใส่เอาไว้อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของเขา ต้องมีอันเป็นไปในการทำประชามติ อย่าลืมว่าในการทำประชามตินั้น นักการเมืองมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของประชาชน สามารถโน้มน้าวใจว่าสิ่งที่ กรธ.ผลิตมาเป็นของเสียต่อบ้านเมือง ซึ่งหากนักการเมืองแอนตี้ โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะแท้งก็มีสูง
แต่หากแป๊ะเปลี่ยนใจอยากจะอยู่ต่อขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง จะด้วยบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย หรือภารกิจสำคัญอย่างยังไม่เสร็จสิ้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะยัดเยียดเนื้อหาในลักษณะสุดโต่งเข้าไปบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของมีชัย เพื่อให้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากสังคม และไปล่มในการประชามติ
หรือจะเรียกว่าจงใจให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่ผิดนัก หรือหากฟลุกผ่านประชามติไปได้ แป๊ะก็จะได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากให้มี คือองค์กรหรือคณะกรรมการลักษณะเดียวกับ คปป. เพื่อเข้ามาทำภารกิจสำคัญเป็นชะตากรรมของมีชัย ต่อจากนี้