xs
xsm
sm
md
lg

เจ็บไม่จำ!! เนติบริกรคัมแบ็ก “มีชัย” จะครองลงกาต่อ “ปื๊ด”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

มีชัย ฤชุพันธุ์
ป้อมพระสุเมรุ


เรือแป๊ะใกล้ได้ “ฝีพาย” คนใหม่ หลังผู้ที่มีรายชื่อว่า คั่วเก้าอี้ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนใหม่ เริ่มถูกตัดออกไปทีละคนสองคน ขมวดจนเหลือเท่าที่เป็นไปได้ คือ ใกล้ชิด “แป๊ะ” เข้าใจเจตนารมณ์ของ “แป๊ะ” ตามใจ “แป๊ะ” และต้องเป็นบุคคลระดับซือแป๋กฎหมาย แถมต้องมากบารมี

ก่อนหน้านี้รายชื่อที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นระดับกูรูรุ่นใหญ่ทางกฎหมายแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อตีกรอบ สเปกข้างต้น ทำให้เหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อตรงสเปกทุกคนอยากจะร่วมลง “เรือแป๊ะ” ยิ่งเมื่อเห็นชะตากรรมของ “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถูก “แป๊ะ” หักหลังแบบ ลับ ลวง พราง ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากกล้าเสี่ยงเอาต้นทุนทางสังคมมาทิ้งฟรีๆ
 
นั่นจึงเป็นเหตุให้การหา “หัวขบวน” คนใหม่มาเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับใหม่ ไม่ได้ง่ายเหมือนตอนที่ตั้ง 36 อรหันต์ กมธ.ยกร่างฯ คราวนั้น

ขณะนี้ชื่อของตัวเต็ง “ประธาน กรธ.” เหลือการพูดถึงเพียง 2 ชื่อเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับปรมาจารย์ทางกฎหมายของประเทศทั้งคู่ คนหนึ่งทำงานอยู่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่เบื้องหลังการเขียนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำสั่ง และประกาศของ คสช.หลายฉบับ นาม “มีชัย ฤชุพันธุ์”

อีกคนงานเขียนและเปเปอร์มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ในวงของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และถูกนำมาอ้างอิงบ่อยๆ ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯ ที่มี “อ.ปื๊ด” นั่งหัวโต๊ะ นาม “อมร จันทรสมบูรณ์”
 
โพรไฟล์และฝีไม้ลายมือของทั้ง 2 คน แทบไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันมาก เพราะเป็นนักกฎหมายชั้นอ๋อง มีศิษย์ก้นกุฏิเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองอยู่หลายคน

“มีชัย” เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานวุฒิสภา อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2550 อดีตผู้อำนวยกองยกร่างกฎหมายคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัจจุบันยังเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาแล้วหลายฉบับ โดยเฉพาะการเป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2534 เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ใครหลายคนเยินยอว่า เป็นฉบับประชาชน

“อมร” มีผลงานในวงนิติศาสตร์เป็นที่ประจักษ์หลายชิ้น เคยเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ พ.ศ. 2439 ศาสตราจารย์ภิชาน ประจําคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 4
 
ทั้งคู่เติบโตในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นอาณาจักรของนักกฎหมายชั้นเยี่ยมของประเทศนี้ และทั้งคู่ยังมีลูกศิษย์ลูกหาในสำนักงานแห่งนี้จำนวนไม่น้อย ดังนั้น หากใครคนใดคนหนึ่งขึ้นแท่น “ประธาน กรธ.” ก็เหมาะสมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความรู้” หรือ “คอนเนกชั่น”

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ทั้ง “มีชัย” และ “อมร” สบายใจที่จะร่วมลง “เรือแป๊ะ” เรื่องการขึ้นเป็นใหญ่คงไม่ใช่ใจความสำคัญ เพราะทั้งคู่เลยจุดๆ นั้นมาแล้ว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ “มีชัย” ดูจะแรงไม่ตกอยู่คนเดียว หลังมีข่าวว่า “อมร” สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อยู่ระหว่างรักษาตัว หลังเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาคอนเฟิร์มว่า สุดท้ายแล้วประธาน กรธ.จะชื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ขณะที่พี่ใหญ่ “ก๊วนเนติบริกร” เคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ อีกแล้ว สะดวกใจที่จะทำงานอยู่หลังม่านมากกว่า

แม้แต่น้องรองแห่งก๊วนเนติบริกรอย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ยังเล่าเล่นๆ ว่า “มีชัย” เคยขอระหว่างเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ว่า ช่วยเขียนคุณสมบัติของ กรธ. ให้ไม่ตรงกับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูยากกับการให้ “มีชัย” มานั่งกุมบังเหียนเขียนรัฐธรรมนูญ หากดูจากท่าทีคนใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ว่า จะไม่มีรายการเปลี่ยนใจ อย่างครั้งหนึ่ง “วิษณุ” เคยถูกนักข่าวถามถึงกระแสที่จะลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี มานั่งร่างเสียเอง โดยเขาเปรียบเปรยเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนฆ่า ทศกัณฐ์ ที่จะมีการยกเมืองลงกาให้ “พิเภก” ครองแทน “ทศกัณฐ์” แต่สุดท้าย “พิเภก” ปฏิเสธ ซึ่งเหมือนเรื่องราวของเขากับเนติบริกรผู้น้อง “บวรศักดิ์” ที่จะยึดจากน้องมาให้พี่คงไม่ได้

แต่พอถามว่า “มีชัย” เป็นกรณีเดียวกับเมืองลงกาหรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ตนเองเป็นญาติกับ “บวรศักดิ์” แต่ “มีชัย” ไม่ได้เป็นญาติกัน ทำให้มีการตีความกันว่า “มีชัย” มีสิทธิ์ที่จะเป็นประธาน กรธ.ได้

แม้คำตอบของ “วิษณุ” ฟังเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นการตอบแบบตรงไปตรงมาธรรมดา แต่หากย้อนดูในหลายๆ ครั้ง คำตอบของ “วิษณุ” มักจะซ่อนคำตอบอะไรไว้อยู่เสมอ โดยเฉพาะสำบัดสำนวน หรือการเปรียบเปรยอะไรต่างๆ
 
ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่ “มีชัย” จะครองเมืองลงกา ต่อจาก “บวรศักดิ์”

นั่นยิ่งทำให้มีการคิดว่า คำตอบสุดท้ายของ “แป๊ะ” ลงตัวที่ “มีชัย” แล้ว เหลือแค่ “เซย์เยส” หรือ “เซย์โน” เท่านั้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีความพยายามให้หลายคนไปช่วยหว่านล้อมเปลี่ยนใจ “มีชัย” โดยเฉพาะคำยอดนิยมในยุค “แป๊ะ” คือ “เพื่อชาติ”

แน่นอน “มีชัย” ย่อมไม่อยากต้องอยู่ในสภาพกระอักเลือดตายเหมือนกับ “จิวยี่” อย่างที่ “บวรศักดิ์” ต้องเผชิญหลังถูก “แป๊ะ” หักหลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ การเทียบเชิญเขามาเป็น “ฝีพาย” คนใหม่ย่อมต้องมีเงื่อนไขหรือหลักประกันบางอย่าง โดยเฉพาะต้องไม่ตกอยู่ในสภาพเนติบริกรผู้น้องของเขาที่ต้องไปหลบเลียแผลใจ

หาก “แป๊ะ” ให้สัญญาใจ การตกปากรับคำคงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

การได้ “มีชัย” มากุมหัวเรือร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้การควานหานักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการต่างประเทศ นักพัฒนาสังคม นักประวัติศาสตร์ มาอยู่ในทีมงาน 21 อรหันต์ เป็นเรื่องที่ คสช.แทบไม่ต้องออกแรงเลย เพราะชื่อของซือแป๋กฎหมายรายนี้เป็นเหมือนแม่เหล็กที่หลายคนพร้อมจะทำงานด้วย

ซึ่งเป็นไปได้ว่า ลูกศิษย์ก้นกุฏิของเขาหลายคนในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทีมงานนักกฎหมายมหาชนเก่งๆ ในสำนักงานกฎหมาย พร้อมจะตบเท้าบรรจงร่างรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับ “แป๊ะ” นั้น การดึง “มีชัย” ออกจากหลังฉากมาอยู่เบื้องหน้า เป็นผลบวกเหมือนกับครั้งที่มีการดึง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี รับงานหน้าม่าน เพราะมีฝีไม้ลายมือ เข้าใจสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และรู้ว่า “แป๊ะ” อยากได้อะไร
 
คำตอบทั้งหมดจะถูกไข หลัง “มีชัย” เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในวันที่ 21 กันยายน และ เช้าวันที่ 22 กันยายน จะมีการประชุมร่วมคสช. และครม. เพื่อพิจารณารายชื่อ กรธ. ก่อนจะประกาศในวันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก“มีชัย” เซย์เยสลง “เรือแป๊ะ” กรณีของเขาจะแตกต่างจาก “บวรศักดิ์” เพราะไม่มี สปช.มาให้ลุ้นระทึกว่า จะโดนหักหลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ แต่จะไปสู่การทำประชามติทันที

และโอกาสที่เขาจะได้ทำงานจนสุดปลายทางมีสูง เพราะท่าทีจาก “บิ๊กตู่” แสดงจุดยืนชัดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ จะไม่มีการทำประชามติอีกแล้ว จึงอาจมีรายการ “ยำรวมมิตร” ผสมผสานระหว่างรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 และร่างรัฐธรรมนูญปี 58 โดยให้ชุดเดิมทำต่อจนเสร็จภารกิจ

ที่สำคัญขณะนี้รัฐบาลยังกั๊ก ไม่เร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อหาทางออกกรณีประชามติไม่ผ่านว่า จะใช้วิธีอะไร อย่างไร โดยขอดูสถานการณ์และบรรยากาศทางการเมืองก่อน

นั่นย่อมแสดงว่า ทางออกของรัฐบาลมีมากกว่า 1 ทาง ซึ่งไม่น่าจะใช่การนับหนึ่งใหม่ เพราะมันสุ่มเสี่ยงต่อตัวรัฐบาลเองอย่างยิ่งหากเลือกใช้วิธีเก่าต่อท่ออำนาจ

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา “มีชัย” เองร่วมร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวกับทีมงานเนติบริกรทุกครั้ง และหากจะมีอีกครั้งเขาย่อมมีส่วนร่วมในการออกแบบชะตาชีวิตตัวเองด้วย 

ตอนนี้เหลือแค่ลุ้น “มีชัย” คัมแบ็ก.
กำลังโหลดความคิดเห็น