ผ่าประเด็นร้อน
หลังจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีท่าทีปลอดโปร่ง หลังจากความนิยมศรัทธาจากประชาชนแรงดีไม่มีตก แม้กระทั่งช่วงที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งจะว่าไปแล้วคนพวกนี้ก็ล้วนมาจาก “มดลูก” เดียวกัน คือ จากหัวหน้า คสช.ทั้งสิ้น แต่น่าแปลกก็คือ แม้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ แต่ “ประยุทธ์” กลับสามารถ “ลอยตัว” ได้เหมือนกัน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแบบไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
ในทางตรงกันข้าม ชาวบ้านส่วนใหญ่กลับมีท่าทีในทางบวก นั่นคือ ทำให้ “บิ๊กตู่” และพ้องเพื่อน สามารถอยู่ต่อได้อีกอย่างน้อยอีก 20 เดือนตามสูตร 6-4 และ 6-4 ที่กำหนดโรดแมปเอาไว้ กลายเป็นว่าชาวบ้านไม่น้อยยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ เพราะยังไม่ต้องการให้นักการเมืองหน้าเดิมเข้าเป็นรัฐบาล และกังวลว่าจะเข้ามาสร้างปัญหาเดิม ๆ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก
ประกอบกับที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” ก็ประกาศมาตลอดว่า เขาไม่ต้องการอยู่นานเมื่อเสร็จสิ้นตามโรดแมปก็จะไปตามทาง อีกทั้งไม่โกงและไม่ยอมให้ใครโกง รวมไปถึงการใช้อำนาจอย่างจำกัด นำไปใช้กับคนทำผิด และใช้สะสางปัญหาที่หมักหมมให้ทันท่วงที ซึ่งอาการและบุคลิกแบบนี้มันโดนใจชาวบ้าน เพราะสำรวจออกมาทุกทีไม่ว่าสำนักไหน ความนิยมศรัทธาก็นำขาดทุกที ล่าสุด ไม่กี่วันก่อนผลสำรวจก็เพิ่งยืนยันว่าเขามีความนิยมเหนือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนอย่างหลุดลุ่ย
อย่างไรก็ดี เส้นทางข้างหน้าล้วนมีแต่อุปสรรคขวากหนาม งานหินหนักกว่าเดิม ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองที่รออยู่ข้างหน้า แม้ว่าจะพยายามเลี่ยงทำให้ลอยตัวแบบเดิม แต่คราวนี้เลี่ยงความรับผิดชอบยาก
เริ่มจากเรื่องเศรษฐกิจก่อน แม้ว่าพิจารณาจากเสียงตอบรับจากสังคม หลังจากมีการเปลี่ยน “ทีมใหม่” ที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ดีไม่น้อย ซึ่งก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี หลังจากมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาสองสามชุด ทั้งช่วยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เน้นการกระตุ้นการจับจ่ายจากภายใน แทนการทิ้งน้ำหนักไปกับการส่งออกเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป
แม้ว่าการเริ่มต้นมีแนวโน้มที่ดีสามารถเรียกว่าเชื่อมั่นกลับมาได้ แต่นั่นก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงในราวสามเดือนข้างหน้า ในความหมายก็คือ “ต้องเห็นแนวโน้มในเชิงบวก” ในขณะที่ขวากหนามข้างหน้ายิ่งมาก็ยิ่งสาหัส ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพราะหากเศรษฐกิจโลกตกต่ำมันก็ย่อมส่งผลมาถึงเศรษฐกิจภายใน สินค้าส่งออกได้น้อย ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ อีกทั้งยังมีภัยแล้งมาสมทบในปีหน้าอีก พิจารณาแล้วยังน่าหนักใจ
ขณะที่เรื่องการเมืองก็มีแนวโน้มหนักหนาไม่แพ้กัน ที่เห็นก็คือเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้แล้ว เพราะเป็นคนตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ 21 คนโดยตรง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ 200 คน สำหรับรัฐธรรมนูญเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็จะให้ประชาชนลงประชามติกันโดยตรงไม่ต้องผ่านสภาใดๆ ให้เป็นกันชนแบบเดิมแล้ว ดังนั้น ถ้าลงประชามติไม่ผ่าน นั่นก็หมายความว่า ชาวบ้าน “ปฏิเสธลุงตู่” ก็มองแบบนั้นได้เหมือนกัน ประกอบกับในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดหน้าชนกับบรรดานักการเมืองกันแบบไม่ยั้ง มันจึงเป็นไปได้สูงที่จะถูกรุมถล่มตอบโต้กลับมาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเริ่มออกมาให้เห็นแล้ว แม้ว่าจะมีความพยายามสกัดแบบ “เชือด” ให้ดูเป็นตัวอย่างกรณีของพวก “เด็กๆ ปลายแถว” ของพรรคเพื่อไทย
แต่ก็ประมาทไม่ได้กับลูกเล่นของพวกนักการเมืองเขี้ยวลากดินพวกนี้ เพราะแรงถล่มจะได้ผลก็ต่อเมื่อ “พลาด” ขึ้นมาให้เห็น ซึ่งโอกาสที่จะพลาดดังกล่าวก็น่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่มองแล้วเป็น “งานหิน” แน่ รวมทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญที่น่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหากส่อไปในทาง “สืบทอดอำนาจ” เมื่อใดเชื่อว่าจะทำให้เกิดปฏิกิริยาในเชิงลบมากขึ้นกว่าเดิมแน่ ดังนั้น หากพิจารณาสถานการณ์ในวันหน้าต้องยอมรับว่า “หนัก” เอาการ เพราะงานนี้มัน “เลี่ยงยาก” ต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ และอย่าได้แปลกใจที่เริ่มได้เห็นอาการเครียดๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาอีกแล้ว!