ปธ.กมธ.ขับเคลื่อนป้องกันทุจริต นำคณะเข้ายื่นข้อเสนอปราบโกง “มีชัย” 19 ข้อ ครอบคลุมเรื่อง ปชช. นักการเมือง การพิจารณาคดี องค์กรอิสระ ให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูล ฝ่ายค้านเป็น ปธ.กมธ.ตรวจสอบทุจริต กรธ.แย้มตัด ป.ป.ช.จังหวัด เหตุแทรกแซงง่าย ปรับ ป.ป.ช.ใช้ กม.ลูก ให้สิทธิดึงเรื่องกลับจาก ป.ป.ท.มาทำต่อหากทำงานไม่เต็มที่
วันนี้ (18 ธ.ค.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ที่ปรึกษา กมธ., นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการ กมธ. และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา โฆษก กมธ. เข้ายื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาของข้อเสนอ คือ 1. ประชาชนมีหน้าที่ป้องกัน ปฏิเสธ และต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบและถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ 2. ให้สิทธิประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสิทธิดังกล่าวต้องไม่ถูกจำกัดเว้นมีกฎหมายบัญญัติ 3. จัดให้รัฐมีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล 4. กำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐหรืองบประมาณต้องเปิดเผยแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ต่อสาธารณะ 5. ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ และผู้เข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี หากไม่แสดงหรือแสดงเป็นเท็จให้ถือว่าพ้นสมาชิกภาพทางการเมือง ทั้งนี้ต้องเปิดเผยรายการดังกล่าวให้สาธารณะรับทราบ
6. ห้ามผู้ที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าทำทุจริต ประพฤติมิชอบ ทำการเลือกตั้งไม่สุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงบุคคลที่เคยถูกปลดออก ไล่ออก หรือออกจากราชการเนื่องจากกระทำทุจริต กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ลงสมัครรับเลือกตั้หรือเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7. ห้าม ส.ส.นำงบประมาณที่เหลือจากการแปรญัตติไปจัดสรรเป็นงบของ ส.ส. 8. เว้นเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.ระหว่างสมัยประชุม กรณีเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต ประพฤมิชอบหรือคดีความผิดเกี่ยวกับทุจริตเลือกตั้ง 9. ให้สิทธิ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นประธาน กมธ.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต และติดตามงบประมาณภาครัฐ
10. ให้มีศาลชำนัญพิเศษคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยใช้ระบบไต่สวน และสามารถอุทธรณ์ได้ 11. ให้สิทธิผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่รัฐอย่างร้ายแรง 12. ต้องเปิดเผยระบบสรรหากรรมการองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 13. ให้ ป.ป.ช.มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และมีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยคดีทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป พร้อมกำหนดะระยะเวลาไต่สวนอย่างไม่ล่าช้า 14. กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นอิสระและทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 15. สร้างกลไกที่บูรณาการการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และอค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ 16. การตรวจสอบคดีทุจริตต้องกำหนดระยะเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงและฟ้องดำเนินคดีโดยเร็ว 17. ให้เขียนบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญตามแนวทงที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 18. ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนยุติธรรมไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และ 19. ให้มีการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะของนายปานเทพยื่นข้อเสนอ ได้ร่วมพูดคุยกับนายมีชัยต่อแนวทางที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายมีชัยระบุว่า ในเนื้อหาเตรียมจะกำหนดไม่ให้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เพราะมีข้อมูลพบว่า ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนั้นมีการแทรกแซงได้ง่าย ขณะที่การปรับการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น ยอมรับว่าในร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่สามารถจะบัญญัติเนื้อหาไว้ทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะนำไปบัญญัติส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ที่ กรธ.จะยกร่างขึ้นใหม่ หลังที่รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ นอกจากนั้นแล้วในส่วนของ ป.ป.ท.นั้นตามที่มีผู้เสนอ คือให้ย้ายสังกัดไปอยู่ในส่วนสำนักนายกฯ แทนสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ แต่มีทักท้วงว่าสำนักนายกฯ และกระทรวงยุติธรรมถือมีผู้กำกับที่มีสถานะเป็นฝ่ายการเมือง ดังนั้นกังวลว่าการทำงานจะไม่มีประสิทธิภาพได้ จึงมีผู้เสนอให้นำ ป.ป.ท.ไปเป็นส่วนหนึ่งของ ป.ป.ช. เพราะตามบทบาทถือว่ามีความคล้ายคลึงกันคือตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ส่วนประเด็นของ ป.ป.ท.ที่อาจพบว่าทำงานไม่เต็มที่ เรื่องที่เสนอให้ตรวจสอบแต่กลับดึงเรื่องไว้ จะให้สิทธิ ป.ป.ช.นำเรื่องกลับมาทำได้ เพื่อแก้ปัญหา” นายมีชัยระบุ