xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ใช้ ม.44 ปลดล็อก ป.ป.ช. “ภุชงค์” ร้อง รบ.ไม่ได้ - เรี่ยไรราชภักดิ์ไม่ผิดระเบียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยใช้ ม.44 ให้ประธาน ป.ป.ช.พ้นตำแหน่ง เพื่อคลี่คลายปัญหาปลดล็อกเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพร้อม กก.ได้ แจงอดีตเลขาฯ กกต.ร้องรัฐบาลไม่ได้ เหตุขึ้นตรงต่อองค์กรอิสระ เชื่อรู้ช่องทาง ชี้หากเงินสร้างราชภักดิ์ไม่เข้าข่ายการเรี่ยไรไม่ผิดระเบียบสำนักนายกฯ ระบุ 30 ธ.ค.หากคลังสอบพยานจำนำข้าวไม่เสร็จ ยังเลื่อนอีกได้

วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 45/2558 ที่ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่ง และกำหนดให้เลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไปในคราวเดียวกับกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ว่า ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่กำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช.เลือกคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน ป.ป.ช. แต่เมื่อยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ บุคคลที่ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 คน จึงยังไม่ถือว่าบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเลือกประธาน ป.ป.ช.ได้ แต่ที่ผ่านมา เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ เลือกประธานป.ป.ช.ก่อน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมกันในครั้งเดียว เมื่อครั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดแรก เพื่อไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายถึง 2 ครั้ง แต่มีปัญหาใหม่อยู่ว่าก่อนหน้านี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.เดิมกำหนดให้นายปานเทพทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช.โดยไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุด การจะเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่โดยที่มีประธาน ป.ป.ช.คนเก่าอยู่จะทำได้อย่างไร

ดังนั้น เพื่อคลี่คลายปัญหาทุกปมจึงทำให้นายปานเทพพ้นตำแหน่งและเพิ่มอำนาจให้ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ 5 คน สามารถประชุมร่วมกับกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่าจำนวน 4 คน เพื่อเลือกประธาน ป.ป.ช.ได้ เป็นการแก้ปัญหาและสมประโยชน์ คือ สามารถเลือกและทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมกันในครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เพิ่งได้รับคัดเลือกใหม่ประชุมเพื่อหารือในเรื่องอื่นๆ ได้

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ จะร้องความเป็นธรรมหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเลิกจ้างจากตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ว่า ตามกฎหมายไม่สามารถมาร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารได้ เพราะนายภุชงค์เป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ต้องขึ้นอยู่กฎหมายขององค์กรอิสระนั้น เรื่องเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะเลขาธิการ กกต. เลขาธิการขององค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน เข้าใจว่าเขาคงมีมาตรการในการอุทธรณ์อยู่ แต่ถ้าจะดำเนินการนอกมาตรการดังกล่าว เช่น ฟ้องต่อศาล นายภุชงค์คงคิดออกว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบตื้นลึกหนาบางเรื่องนี้และไม่ทราบว่าไม่ผ่านผลประเมินเพราะอะไร

เมื่อถามว่า ทราบเรื่องที่นายภุชงค์ออกมาระบุว่า ในช่วงที่ กกต.เตรียมจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการล็อกให้ใช้โรงพิมพ์เดียวในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะให้โรงพิมพ์ของรัฐและเอกชนร่วมกันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพิ่งได้ยินที่มีการเปิดเผยเมื่อวันสองวันนี้ และระหว่างที่เคยประชุมร่วมกันตอนนั้น ทราบเพียงแต่ว่า กกต.จะเป็นผู้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และได้ถามว่าจะใช้โรงพิมพ์ไหน วิธีการอย่างไร เพราะเป็นห่วงเรื่องจำนวนกระดาษที่ต้องใช้จำนวนมาก เกรงจะไม่ทันในระยะเวลาอันสั้น ทาง กกต.ชี้แจงว่าจะกระจายหลายโรงพิมพ์ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของ กกต. ทั้งนี้ ในการทำประชามติครั้งต่อไปคงจะต้องมีการหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกัน เพราะแม้จะเป็นเรื่อง กกต. แต่รัฐบาลในฐานะเป็นผู้อนุมัติงบก็ต้องสอบถามเรื่องเหล่านี้ ส่วนครั้งที่แล้วเนื่องจากยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์ รัฐบาลจึงไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบอะไร แต่ครั้งต่อไปต้องมีการประชุมและคุยกัน

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเปิดเผยเอกสารการประชุมของคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของภาครัฐ (กคร.) ว่าไม่มีการขอเรี่ยไรเงินจากกองทัพบกส่งเข้ามาในที่ประชุมเพื่อขอจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ตลอดปีงบประมาณ 2558 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า การบริจาคไม่ถือเป็นการเรี่ยไร และหากทำในรูปแบบของมูลนิธิก็ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งตนพูดตามเนื้อหาที่สื่อหยิบยกขึ้นมา ตนไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องแยกจากกันระหว่างการเรี่ยไรกับการบริจาค หากไม่เข้าข่ายการเรี่ยไรก็ไม่เข้าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หากมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการต้องไปว่ากันในส่วนของมูลนิธิ ไม่ใช่การเรี่ยไรของทางราชการ

“ผมตอบกลางๆ เพราะไม่รู้ใครเป็นคนทำและทำอย่างไร ผมก็เพิ่งรู้ว่ามีมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการ ยอมรับว่าการบริจาคกับการเรี่ยไรมีความใกล้เคียงกัน และเหตุที่มีการควบคุมการเรี่ยไรเพราะจะมีเงินเข้ามามาก อาจมีการยักย้ายถ่ายเททำให้สับสน จึงต้องมีการทำบัญชีให้ชัดเจน แต่การบริจาคเป็นการเจาะจงว่าจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไร แต่ไม่ว่าจะเป็นการเรี่ยไรหรือบริจาคจะต้องมีการควบคุมโดยกฎหมายหรือระเบียบที่แตกต่างกัน” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกในโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร สำหรับกระบวนการของกระทรวงการคลัง ได้ขยายเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงไปถึงวันที่ 30 ธ.ค.นี้ เพื่อสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ถูกกล่าวหาขอมา แต่หากพยานไม่ว่างจำเป็นต้องเลื่อนก็ต้องขยายเวลาไป ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น เสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เว้นแต่หาก ป.ป.ช.ส่งข้อมูลมาเพิ่มหรือมีผู้ถูกกล่าวหารายใหม่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระบวนการของกระทรวงพาณิชย์ถือว่าเดินมาได้แล้วครึ่งทาง ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการว่าด้วยการเรียกรับผิดทางแพ่ง หากเสร็จตรงนั้นแล้วจะดำเนินการเรียกรับผิดเลยหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพราะอายุความมีถึง 2 ปี แต่ถ้ามีความเกี่ยวโยงถึงภาคเอกชน จะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี เพราะในส่วนของภาคเอกชนมีอายุความจะมี 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น