xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แจงร่าง รธน.ให้สิทธิเสรีภาพจับต้องได้ เพิ่มภูมิต้านคุ้มกันต้านโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.แจง สนช.-สปท.ยันร่าง รธน.ให้สิทธิเสรีภาพที่จับต้องได้ มีภูมิต้านทานและกลไกสกัดคนทุจริต พร้อมกำหนดเวลาชัดในการปฏิรูป 7 ด้านให้สำเร็จ ขอโทษ สปท.ปรับเปลี่ยนวาระให้เหลือแค่ 4 เดือน ด้าน “อลงกรณ์” มีเคือง ถูก กรธ.กล่าวหาทำงานช้า ซ้ำซ้อน ทั้งที่ผลงานเพียบ “มีชัย” ขอโทษหากทำสะเทือนใจ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยย้ำหลักการว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพที่จับต้องได้ กำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้ประชาชน โดยไม่ต้องให้ประชาชนตะเกียกตะกายเพื่อเรียกร้องสิทธิ กำหนดความเสมอภาคชาย-หญิง มีมาตรการป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาทุกรูปแบบด้วย

ส่วนเนื้อหาในส่วนของการเมืองนั้นได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อมีความมุ่งหมายให้ประชาชนได้เห็นอนาคตทางการเมืองที่ชัดเจน ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปได้มีการแยกออกมาเป็น 1 หมวด ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 3 สาย คือ คณะรัฐมนตรี สนช. และ สปท. โดยให้มีการปฏิรูป 7 ด้าน ซึ่งจะมีการกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่ตายตัวจะต้องทำให้สำเร็จเมื่อใด หากทำไม่สำเร็จ ทาง ครม.สามารถสั่งให้ผู้รับผิดชอบพ้นจากตำแหน่งด้วย ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลนั้นก็ได้กำหนดให้มี ส.ว.จากการสรรหา 5 ปี โดยมีหน้าที่ดูแลการปฏิรูปให้สำเร็จและลุล่วงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีข้อขัดข้องก็ใช้วิธีการประชุมร่วม อีกทั้งก็จะดูแลกฎหมายที่จะกระทบกระเทือนกระบวนการยุติธรรมด้วย

ขณะที่การปรับเปลี่ยนวาระการทำงานของ สปท.ให้เหลือ 120 วันนับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ปีนั้น เนื่องจากเมื่อ กรธ.ได้รับสาระสำคัญของการปฏิรูปแล้ว พบว่ามีการศึกษาไปไกลจนถึงขั้นที่ต้องลงมือทำแล้ว ดังนั้น กรธ.จึงกำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการทำประชามติ ก็ให้ สปท.ทำงานไปพลางก่อน แต่เมื่อได้องคาพยพและตัวบุคคลที่จะมาลงมือทำการปฏิรูปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 259 แล้ว สปท.ก็ต้องหมดไป ต้องขอโทษที่ไม่ได้บอกให้ สปท.ทราบ เพราะช่วงท้ายฉุกละหุกมาก ในฐานะที่เป็นแม่น้ำร่วมกันก็ผิดพลาดที่ไม่ได้เรียนให้ทราบ

ทั้งนี้ สมาชิกได้ซักถามข้อสงสัยบางประเด็น อาทิ สมาชิก สนช.ที่ซักในประเด็นหลักประกันในกลไกในบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่จะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา การตัดบทบาท ส.ว.ที่มีต่อการถอดถอนนักการเมือง การทดลองเลือกไขว้ ส.ว.ระหว่างกลุ่มอาชีพ 50 คน ที่หากล้มเหลวจะทำอย่างไร ซึ่งนายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ.ชี้แจงว่า การเลือก ส.ว.ทางอ้อมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนของอาชีพมาสมัครได้และเลือกไขว้กันเองระหว่างกลุ่มอาชีพซึ่งจะเลือก 3 ชั้นตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ไม่สามารถฮั้วกันได้ง่ายๆ และจะมีรายละเอียดการป้องกันบล็อกโหวตอยู่ในกฎหมายลูกต่อไป ถือว่า มีกลไกป้องพอสมควร ส่วนที่บอกว่า ถ้าระบบ ส.ว.เลือกไขว้ 50 คน ไม่ดีจะทำอย่างไรนั้น อย่าเพิ่งไปคิด ขอให้ลองดูก่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็แก้รัฐธรรมนูญได้อยู่

นายมีชัยชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากการเลือก ส.ว.แบบไขว้แล้วล้มเหลว ไม่ได้อย่างที่คาดไว้ คงไม่ต้องถึงกับแก้รัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 107 หากดูดีๆ เป็นกฎหมายที่สามารถแก้ปัญหาได้ตลอดเวลาและทุกเรื่อง ถ้าเกิดอะไรที่ไม่คาดหวังไว้ก็สามารถปรับปรุงสิ่งที่เกิดขึ้น ได้

ด้านสมาชิก สปท. อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ได้ซักถามถึงประเด็นการลดวาระ สปท.เหลือ 120 วัน ซึ่งตนไม่ได้ติดใจ แต่ที่มี กรธ.บางคนระบุว่าเหตุเพราะ สปท.ทำงานล่าช้านั้น ทำให้ สปท.เสียหาย ขอยืนยันว่า สปท.ไม่ได้ทำงานล่าช้า เราทำงานเต็มที่มีแบบแผน ไม่ได้ล่าช้าอย่างใด

ขณะที่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สปท.ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามทุจริต แต่สงสัยว่าเหตุใด กรธ.ไม่ยอมบัญญัติเรื่องการส่งผู้สมัครเลือกตั้งแสดงรายการภาษีย้อนหลัง 3 ปี เพราะเป็นมาตรการสำคัญช่วยป้องกันลดปัญหาทุจริตได้

นายอัชพร จารุจินดา กรธ.ชี้แจงว่า เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียว ใบเดียว ที่มองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตซื้อเสียงได้นั้น การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง ส่วนเรื่องการแสดงภาษีย้อนหลัง 3 ปีของผู้สมัครเลือกตั้งจะนำไปใส่ในกฎหมายลูก

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 ได้ชี้แจงกรณีที่มี กรธ.บางคนพูดว่า สปท.ทำงานล่าช้า ซ้ำซ้อนจนถูกลดวาระการทำงานลง เหตุใด กรธ.ไม่ยอมมาพูดคุยเรื่องนี้ด้วย ทั้งที่อยู่ในรั้วเดียวกัน และ สปท. ก็มีผลงานมาก ซึ่งนายมีชัยชี้แจงว่ารับฟังเสียงบ่นของนายอลงกรณ์ถือเป็นข้อผิดพลาดที่ไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบ แต่เรื่องการปฏิรูปจะต้องลงมือและมีกฎหมายรองรับ ส่วนข่าวที่มี กรธ.บางคนให้ข่าวในลักษณะอาจสร้างความเสียหายต่อ สปท.นั้น ตนไม่ทราบ เพราะกรธ.คนดังกล่าวไม่อยู่ในห้องประชุมขณะนี้ แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กรธ.ไม่เคยมีใครพูดหรือมีทัศนคติต่อว่า สปท. ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการออกกฎหมายทุกอย่างก็ต้องจบ เรื่องนี้อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อน หากมีการพูดเช่นนั้นจริงตนก็ต้องขอโทษที่ทำให้สะเทือนใจ



















กำลังโหลดความคิดเห็น