xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยใช้คำสั่ง หน.คสช.สรรหา 5 ป.ป.ช.ใหม่ - ย้ำ กรธ.ไม่เอาคนเห็นแย้ง อาจมี สนช.แจม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีระบุมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13 สรรหา 5 ป.ป.ช.ใหม่หลังหมดวาระ 21 ก.ย. แต่ชี้ปัญหารักษาการศาลปกครองสูงสุดจะร่วมสรรหาหรือไม่ บอกคนนั่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือน คสช.แต่ไม่เอาคนที่เห็นขัดแย้ง ไม่รู้เลขาฯ กฤษฎีกาเป็นโดยตำแหน่ง ส่วน “พรเพชร” ก็ไม่ได้ขอ สนช.แจม แต่น่าจะมี 1-2 คน ตัวประธานถ้าเป็นนักกฏหมายจะดี โอ่นายกฯ ก็รู้จักคนมาก ย้ำ 3 เจตนารมณ์ รธน.เน้นปรองดองเรื่องใหญ่ หากชาติสงบก็เลือกตั้ง รับมีการพูดถึงหากประชามติไม่ผ่าน แย้มอาจแก้ รธน.ชั่วคราวแต่ยังไม่ใช่ช่วงนี้

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 5 คน ได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช., นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี, นายภักดี โพธิศิริ และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 21 ก.ย.นี้ว่าจะต้องมีการสรรหาบุคคลมาแทน โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2558 โดยมีจำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1. ประธานศาลฎีกา 2. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3. ประธานศาลปกครองสูงสุด 4. ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ 5. รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย แต่วันนี้เหลือเพียง 4 คน เพราะไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่าผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการจะเข้าร่วมสรรหาได้หรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงคุณสมบัติผู้ที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องเอาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกเพราะท่านเป็นคนหาซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เห็นเหมือน คสช. แต่คงไม่เลือกเอาคนที่เห็นขัดแย้ง ส่วนนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเข้ามาเป็นโดยตำแหน่งหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะเป็น กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่า อยู่ที่เขาจะยอมให้มี กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่าเข้ามาหรือไม่ และตนได้พบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่านบอกว่าไม่ได้ขอว่าต้องมี สนช.มาเป็นกรรมการร่างฯ เพียงแต่น่าจะมี 1-2 คน แต่ถ้าไม่มีเลยไม่เป็นไร ทั้งนี้ ตัวประธานคณะกรรมการร่างฯ ไม่มีที่ไหนเขียนเอาไว้ว่าต้องเป็นนักกฎหมาย ในอดีตเคยมีนักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายจะดีเพราะประธานเป็นคนคุมเกม หากรู้เรื่องกฎหมายด้วยจะสามารถบริหารจัดการประชุมได้ง่าย อย่างไรก็ตาม นายกฯ เองรู้จักคนมาก อย่านึกว่าไม่รู้จัก ยิ่งเคยคัดคนเป็นอะไรต่อมิอะไรมาหลายหนแล้ว สังเกตจากการแต่งตั้งข้าราชการบางทีเอ่ยชื่อมาท่านจะบอกเลยว่า คนคนนั้นเคยดำรงตำแหน่งอะไรเมื่อไร

นายวิษณุกล่าวว่า เจตนารมณ์ของ คสช.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ 1. มีการบริหารราชการแผ่นดิน 2. มีการปฏิรูป และ 3. มีปรองดองเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องปรองดองเป็นเรื่องใหญ่เพราะนายกฯ พูดหลายครั้ง โดยท่านนำไปผูกกับเหตุการณ์ด้วยว่า โรดแมป 6-4, 6-4 หรือ 20 เดือนนั้นมีโอกาสจะสั้นลงมาเป็น 10 เดือน 15 เดือนได้ หากสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีความปรองดองในระดับหนึ่ง สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ ตนอยากยกสุภาษิตฝรั่งที่เขาบอกว่าเมื่อแดดออกให้เอาหญ้าไปตาก เพราะเมื่อถึงฤดูหนาวหิมะตกจะไม่มีหญ้าให้วัวกิน หากบัดนี้แดดออกต้องเอาหญ้าไปตาก แต่ถ้าฟ้ามืดครึ้มต้องเก็บหญ้า ดังนั้น หากบ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็เร่งเลือกตั้งเสีย แต่ถ้ายังตะลุมบอนตีกันอยู่ มีระเบิด ผู้คนยังไม่สามัคคี ด่าทอกัน จ้องเลือกตั้งเข้ามาเพื่อล้างแค้นกัน อย่างนั้นยากที่จะไปเร่งรัด

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องปรองดองนายกฯ พูดเองว่าวิธีในการจัดความปรองดอง คือ 1. สิ่งใดที่สามารถเยียวยาให้เขาได้จะต้องเยียวยา 2. สิ่งใดที่สามารถให้อภัยได้ควรจะทำ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ต้องมีความรับผิดเกิดขึ้นก่อน 3. การทำให้ทุกอย่างมีมาตรฐานเดียวกันและใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่ามีสองมาตรฐาน ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ และ 4. สร้างการรับรู้ความเข้าใจ และการพัฒนาให้เขาลืมตาอ้าปาก ไม่เหลื่อมล้ำ เขาจะรู้สึกว่าพร้อมจะปรองดอง เรื่องนี้พูดกันเป็นมติ ครม.ไปแล้ว โดยกลไกของรัฐทั้งหมดจะเป็นผู้ผลักดัน ครม.เป็นระดับนโยบายผลักดันในระดับสูง ระบบราชการทั้งหมดต้องขับเคลื่อนและผลักดันในระดับผู้ปฏิบัติ สนช.จำเป็นต้องช่วยถ้าจำเป็นต้องมีการออกกฎหมาย และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะต้องช่วยในกรณีทำความเข้าใจกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากครั้งนี้ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า มีการปรารภกัน แต่คิดว่ามันยังอีกระยะยาว หากมีความจำเป็นอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีก แต่ยังไม่ในช่วงนี้ ต้องอีกระยะหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น