xs
xsm
sm
md
lg

มีชัย-ป้อม เกาเหลาแค่ “ปาหี่” กลลวง รธน.สืบทอดอำนาจ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

เชื่อว่า หลายคนคงรู้สึกขำกับท่าทีของแต่ละฝ่าย ระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตามข่าวมองว่ากำลังงัดข้อกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องข้อเสนอให้มีการกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหา หรือพูดกันแบบตรง ๆ ก็คือ ส.ว.ลากตั้ง 5 ปี อ้างว่าเป็นช่วง “เปลี่ยนผ่าน” โดยให้กำหนดอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอเรื่อง ส.ว.ลากตั้ง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้นเป็นลักษณะแข็งกร้าว ว่า ต้อง “เกิดให้ได้” สร้างความอึดอัดกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ถึงขั้นกังวลกันว่าอาจทำให้ มีชัย ลาออกก็ได้ ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง จะทำให้เกิดปัญหาต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ในภายหลัง

ได้เห็นข่าวแบบนี้ ได้เห็นท่าทีดังกล่าวแล้ว สำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์และรู้แบ็กกราวนด์ของคนทั้งคู่คือ ทั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วคงหัวร่อกันท้องแข็งแน่ เพราะมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย นอกเหนือจาก “ปาหี่” หรือละครลบตา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้ไปอีกทางหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อถึงเวลา “เปิดของจริง” ออกมา ถึงตอนนั้นมันก็แก้ไขอะไรไม่ทันการณ์แล้ว

ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่าข้อเสนอเรื่องการกำหนด ส.ว. สรรหา ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 5 ปี อ้างว่า เพื่อประคองสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเอาไว้เป็นช่วงๆรวมเวลา 20 ปี ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมกรรร่างรัฐธรรมนูญก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ อ้างว่า ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เห็นหนังสือจาก พล.อ.ประวิตร แบบเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ขอพูดอะไร และที่ผ่านมา ในระหว่างที่มีการประชุมกลไกอำนาจหรือที่เรียกว่า “แม่น้ำห้าสาย” เขาก็ไม่เข้าร่วมประชุม อ้างว่าไม่อยากให้มีการ “ผูกมัด” หรือให้ถูกมองว่าเป็นการ “ตั้งวง” ร่างรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมา สำหรับประเด็น ส.ว. สรรหา แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ำว่า ส.ว. สรรหาจะไม่มีอำนาจหรือเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ปิดกั้นให้สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้าไปเป็นสมาชิกได้ ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่ทำให้มีเสียงโวยวายตามมา โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ว่า นี่คือ “การสืบทอดอำนาจของ คสช.” บางคนถึงขนาดฟันธงว่า คสช. ต้องการอยู่ยาวกันไปนับสิบปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ด้วยเครดิตและความเชื่อถือของพวกนักการเมืองที่ในเวลานี้สังคมไม่ให้ราคา มีภาพลักษณ์ติดลบจึงไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง มิหนำซ้ำ ยังถูกพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ทำการบ้านอ่านเกมทะลุโต้กลับใส่นักการเมืองว่าดีแต่สนใจเรื่อง “อำนาจของตัวเอง” กังวลว่าตัวเองจะเสียอำนาจเท่านั้น เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังหยิบมาพูดแบบ “ตัดเกม” ลดกระแสอยู่บ่อยครั้งเช่น กล่าวในทำนองว่า “พวกนักการเมืองดีแต่สนใจเรื่องประชาธิปไตย สนใจแต่เรื่องการเลือกตั้ง” อะไรแบบนี้เป็นต้น แน่นอนว่าในยุคที่ สังคมมองนักการเมืองแบบ “ห่วยแตก” กระจอกแบบนี้ มันก็ช่วยไม่ได้ที่สังคมจะมองผ่าน ไปให้น้ำหนักกับเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองในอนาคตมากกว่า

ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันตามความเป็นจริงเวลานี้ แม้ว่าเป็นช่วงของการรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าคงไม่อาจแก้ไขในหลักการ หรือสาระสำคัญบางอย่างได้ และที่ผ่านมาทาง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้แสดงท่าทีให้เห็นมาแล้ว ยกเว้นหากเป็นข้อเสนอขององค์กรอำนาจหลัก อย่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังที่กำลังเสนอให้กำหนดให้ ส.ว. สรรหา 5 ปี ในบทเฉพาะกาลนั่นแหละ

อย่างไรก็ดี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ หากจะให้ตั้งข้อสังเกตก็ต้องมองในมุมที่ว่า “จำเป็นต้องรักษาระยะห่าง” เอาไว้หน่อย ทำให้เห็นว่า “ใบสั่ง” ก็ไม่มีความหมายอะไรประมาณนี้ แต่ในความเป็นจริงในทางลับอาจเป็นแบบตรงข้าม เพราะเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์สำหรับ มีชัย ฤชุพันธุ์ กับ คสช. แทบไม่ต่างจาก “คอหอยกับลูกกระเดือก” แยกกันไม่ออก เพียงแต่ว่าบทที่แสดงออกมาภายนอกมันต้อง “เนียน” ที่สุด ยิ่งในช่วงสำคัญแบบนี้ยิ่งต้องยกกำลังสอง ยิ่งทำให้เห็นว่า “งัดข้อ” กันยิ่งดี แต่ให้จับตาประเด็นที่จะกำหนดในบทเฉพาะกาล รวมไปถึงประเด็นหลักๆที่กำหนดเอาไว้ในร่างแรกนั้นกำหนดอะไรไว้บ้างและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

เพราะเมื่อเปิดโผออกมาอาจจะหงายหลังก็ได้ หลักการเดิม สาระเดิมที่เคยกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น หรือจะแก้ไขตามข้อเสนอของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ 16 ข้อหรือไม่ รวมไปถึงประเด็น ส.ว. สรรหา ที่เปิดทางให้คน คสช. เข้าไปนั่งได้กันเป็นแผงหรือไม่ เนื่องจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่า ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ ยังไม่ได้ประชุมหารือกัน ยังไม่ถึงเวลา

อย่างไรก็ดี ตามกำหนดจะมีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 มีนาคม เพื่อพิจารณาข้อเสนอจะได้มองเห็นแนวโน้มว่า ประเด็นนายกฯคนนอก ส.ว. สรรหา หรือแม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตจะทำได้ยากหรือไม่ หรือทั้งหมดจะมีหน้าตาอย่างไร

แต่นาทีนี้สำหรับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อพิจารณาจากความเป็นมาแล้วยังมองไม่เห็นว่าคนทั้งคู่จะงัดข้อกัน สิ่งที่เห็นน่าจะเป็นเพียงละคร หรือ ปาหี่ ที่ต้องการตบตาให้เบนความสนใจในช่วงเวลาสำคัญเท่านั้น ช่วงที่จะมีการสืบทอดอำนาจลากยาว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น