เมืองไทย 360 องศา
บางทีต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าเรากำลังถูกทำให้ “หลงประเด็น” จากความพยายามในการเบี่ยงเบนให้ไปอีกทางหนึ่ง โดยใครบางคนกำลังซ่อนเป้าหมายที่แท้จริงเอาไว้หรือไม่ หรือเรากำลังอยู่ภายใต้ “ทฤษฎีสมคบคิด” กันหรือไม่ เพราะหลายเรื่องมันชักเข้าเค้าและชัดเจนขึ้นในตอนท้ายทุกที โดยที่เมื่อถึงตอนนั้นแล้วเราก็ไม่อาจแก้ไขได้ทันแล้ว
เหมือนกับเวลานี้ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเสนอความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อำนวยการยกร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยมีหลายองค์กรต่างเสนอความคิดเห็นเข้าไป แต่คำถามก็คือข้อเสนอของใครมีน้ำหนักที่สุด และได้รับการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามความคิดเห็นเหล่านั้นหรือไม่ แน่นอนว่าย่อมต้องมีแนวโน้มว่า “ต้องฟัง” หากเป็นความเห็นหรือข้อเสนอจากรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหากพูดให้แคบเข้ามาก็คือข้อเสนอระดับ “หัวหน้าทีม” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรองหัวหน้า คสช.ที่กำลังเสนอให้มี ส.ว.สรรหาแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยให้กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล อ้างว่าเอาไว้ในช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่านห้าปี” การเสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
เหตุผลที่พวกเขายกขึ้นมาอ้างส่วนใหญ่ก็จะเน้นย้ำให้เห็นว่าบ้านเมืองยังมีความขัดแย้งทำให้การพัฒนาบ้านเมืองเป็นอุปสรรคเดินต่อไปไม่ได้ ต้องมีกลไกแบบนี้มาใช้ชั่วคราว ขณะเดียวกันก็มีการขยายภาพความน่ากลัว ความถ่อยเถื่อน ไร้ความสามารถและการทุจริตของพวกนักการเมืองให้เห็น ซึ่งก็ปฏิเสธความจริงเหล่านี้ไม่ได้เสียด้วย ทำให้ชาวบ้านอยู่ในอาการที่เรียกว่า “น้ำท่วมปาก” พูดไม่ออก
ขณะที่บางคนก็มัวแต่ไปไล่บี้พะวงอยู่กับ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายว่าจะเข้ามาป่วนบ้านเมืองอีกรอบในภายหน้า จนทำให้ละสายตาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนแทบไม่ได้พิจารณาสาระสำคัญที่กำลังจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในเวลานี้ด้วยซ้ำไป
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ต้องบอกว่ามีความระมัดระวัง ไม่โฉ่งฉ่าง ทำให้จับได้ไล่ทันยาก มีการสรุปบทเรียนความผิดพลาดจากการร่างรัฐธรรมนูญคราวที่แล้วในยุคของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) โดยกำหนดอยู่ในบทเฉพาะกาล อ้างส่าทำหน้าที่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยสามารถใช้อำนาจพิเศษในช่วงที่บ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤต เป็นการหาทางออกโดยไม่ต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ในคราวนั้นกระแสต้านรุนแรงจนทำให้ผู้นำ คสช.ต้องส่งสัญญาณคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนำไปสู่การร่างใหม่โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ในปัจจุบัน
แน่นอนว่าเมื่อได้เห็นบทเรียนดังกล่าวแล้ว มาถึงยุคของมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเห็นว่าจะมีการปล่อยออกมาทีละขยัก ไม่ใช่เป็นการเปิดเผยแบบรวดเดียวเหมือนกับคราวที่แล้ว หากสังเกตจะพบว่าจะค่อยเปิดเผยประเด็นสำคัญเอาในช่วยท้ายๆ เหมือนกับเวลานี้ เมื่อมีข้อเสนอจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เสนอให้มี สว.สรรหาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 5 ปี โดยกำหนดในบทเฉพาะกาล อ้างว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และที่สำคัญ ส.ว.พวกนี้จะเปิดทางให้ คสช.เข้ามาทำหน้าที่ด้วยก็ได้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ดูลดดีกรีลงมาบ้างก็กำหนดไม่ให้เกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกฯ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯ อย่างเดียว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาต้องจับตาบทบาทของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มักจะเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเขา “มีอิสระ” ไม่มีใบสั่งจากใคร และที่ผ่านมาในการประชุมที่เรียกว่า “แม่น้ำห้าสาย” เขาก็ไม่เข้าร่วมประชุมอ้างว่าไม่ต้องการผูกมัดและทำให้ถูกมองว่าไปตั้งวงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมองกันอีกมุมหนึ่งก็ถือว่านี่คือ “ความเขี้ยว” ระดับปรมาจารย์เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน กับข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “บิ๊กบราเธอร์” เกี่ยวกับเรื่อง ส.ว.สรรหา มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็วางเฉยอ้างว่ายังไม่เห็นข้อเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ต้องรอพิจารณาก่อน แต่คำถามก็คือเมื่อถึงเวลานั้นเมื่อเปิดออกมาทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ทันแล้ว
สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ เวลานี้กำลังมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เกี่ยวกับการออกเสียงลงประชามติ โดยแก้ไขให้เป็นใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และไม่รวมคะแนนจากบัตรเสียอีกด้วย จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ แน่นอนว่าเมื่อออกมาแบบนี้มันก็ต้องผ่ายฉลุยอยู่แล้ว
ดังนั้น ในเวลานี้ก็ต้องมั่นใจเกินร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการลงประมติแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องมาลุ้นกันก็คือเนื้อหาสาระใน “บทเฉพาะกาล” ต่างหากว่าจะมีการกำหนดอำนาจพิเศษในช่วงที่อ้างว่าเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” 5 ปีข้างหน้าว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง นอกเหนือจาก ส.ว.สรรหาที่กำหนดออกมาแล้ว ส่วนจะเป็นการรุกแบบมากกว่าคืบเป็นศอกหรือไม่ อย่ากะพริบตาเป็นอันขาด!